รักษาโรคอัลซ์ไฮเมอร์ด้วยแปะก้วย

นักวิทยาศาสตร์พบต้นแปะก้วยช่วยให้ผู้ป่วยโรคอัลซ์ไฮเมอร์มีอาการดีขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังเตือนให้ระวังในการบริโภคสารสกัดจากพืชดังกล่าวเพราะมีเรื่องการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โรค อัลซ์ไฮเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคที่เพิ่งจะเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างหนาหูในบ้านเราเมื่อไม่นานมานี้ แต่ที่จริงแล้วโรคนี้เป็นโรคที่ค้นพบมาเกือบร้อยปีแล้ว คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907 โดยนายแพทย์อัลซ์ไฮเมอร์ ต่อมาจึงนำชื่อของผู้ค้นพบมาใช้เป็นชื่อโรค ชื่ออัลซ์ไฮเมอร์นี้เป็นการออกเสียงตามสำเนียงเยอรมันตามเจ้าของชื่อ แต่ในภาษาอังกฤษโดยทั่วไปมักออกเสียงเป็น อัลไซเมอร์ แต่อย่างไรก็ดี หากพูดเร็วๆแล้วทั้งอัลซ์ไฮเมอร์และอัลไซเมอร์จะฟังคล้ายกันมาก

โรคอัลซ์ไฮเมอร์นี้เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะค่อยๆปรากฏอาการสมองเสื่อม โดยจะมีความเสื่อมทั้งด้านความจำ สติปัญญา การพูด ความคิดอ่าน และการตัดสินใจ อาการที่ปรากฏให้เห็นคือหลงลืม เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ยาก วางข้าวของผิดที่ สับสน เลอะเลือน บุคลิกภาพเสื่อม ตัดสินใจผิดพลาด ใช้เหตุผลน้อยลง ช่างกังวล หงุดหงิดรำคาญ ตึงเครียด และกระวนกระวาย รวมทั้งเซลล์สมองจะเกิดการหดเหี่ยว (atrophy) สาเหตุของโรคนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด รวมทั้งเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วสมองจะเสื่อมลงเรื่อยๆอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้

โรคนี้มักเป็นในผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 65 ปี ขึ้นไป ในวัยกลางคนก็พอพบได้บ้างแต่น้อย ส่วนที่เกิดในวัยหนุ่มสาวนั้นมีน้อยมาก มีชาวอเมริกันถึง 4 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ หนึ่งในจำนวนนั้นมีคนดังที่เรารู้จักกันดีด้วย นั่นคืออดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา นายโรแนลด์ เรแกน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าวงการแพทย์ยังไม่พบวิธีการรักษาโรคนี้ วิธีที่เป็นความหวังในอนาคตก็คือการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าวิจัย แต่อย่างไรก็ดีเมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์เชื้อสายฝรั่งเศสที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงการใช้สารสกัดจากพืชในการบรรเทาโรคร้ายนี้

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของ ดร.ปีแยร์ เลอ บาร์ ทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวในวารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกัน ส่วนพืชดังกล่าวมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า จิงโก ไบโลบา (Gingko biloba) และมีชื่อสามัญว่า maidenhair tree หรือต้น ผมของสาวน้อย ชื่อไทยนั้นไม่มี แต่ถ้าบอกชื่อจีนแล้วก็คงจะต้องร้องอ๋อ เพราะพืชที่ว่านี้แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่อื่นไกลก็คือ แปะก้วย นั่นเอง

ลักษณะใบและเมล็ดของต้นแปะก้วย ต้นแปะก้วยนี้เป็นต้นไม้โบราณชนิดหนึ่ง ไม่มีดอก ผสมพันธุ์แล้วไม่ได้ผลแบบไม้ดอกทั่วไป แต่จะได้เมล็ดแทน (เช่นเดียวกับต้นสน)

แปะก้วยที่เรารู้จักกันนั้นเป็นส่วนของผล มีราคาแพง ชาวจีนนิยมนำมาปรุงเป็นของหวาน ในการรับประทานเลี้ยงแบบโต๊ะจีนในบ้านเรานั้น หากเป็นโต๊ะจีนที่มีราคาพอสมควร ของหวานจานสุดท้ายก็มักเป็นเผือกกวนและเมล็ดแปะก้วยนี่เอง แต่ถ้าเป็นโต๊ะจีนราคาประหยัดของหวานก็อาจเป็นผลไม้กระป๋องแทน

ดร. เลอ บาร์ ได้ทดลองใช้สารสกัดกับผู้ป่วยอัลซ์ไฮเมอร์ 300 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน ส่วนหนึ่งให้รับประทานสารสกัดจากต้นแปะก้วยหรือสารสกัดจิงโกทุกวัน วันละ 3 ครั้ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้ยาหลอกเพื่อใช้เป็นกลุ่มเปรียบเทียบผล

ผลการทดลองปรากฏว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดแปะก้วยมีอยู่หนึ่งในสามที่มีอาการทางสมองดีขึ้น ที่ว่าดีขึ้นนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรก มีความจำดีขึ้น ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือแม้จะไม่ได้มีความจำดีขึ้น แต่ความจำทรงอยู่กับที่ ไม่มีอาการเสื่อมถอยลงไปอีก

เนื่องจากสารสกัดแปะก้วยนี้ในปัจจุบันมีวางขายทั่วไปในสหรัฐฯ จัดเป็นอาหารเสริมบำรุงสุขภาพชนิดหนึ่ง สรรพคุณตามที่กล่าวอ้างกันก็คือบำรุงสมอง บำรุงความจำ ดังนั้นเมื่อข่าวงานวิจัยนี้แพร่ออกไปก็เป็นที่คาดได้ว่ายอดขายของสารสกัดดังกล่าวจะต้องพุ่งขึ้น ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านอัลซ์ไฮเมอร์คนอื่นๆจึงได้ออกโรงเตือนผู้ป่วยเพราะเกรงว่าจะแห่กันไปซื้อสินค้าดังกล่าว

สารสกัดจิงโกหรือสารสกัดแปะก้วย
เป็นอาหารเสริมที่กำลังนิยมกันใน
สหรัฐอเมริกา

เหล่าผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาเตือนว่าการสรุปว่าสารสกัดแปะก้วยนี้ช่วยรักษาอาการสมองเสื่อมจากโรคอัลซ์ไฮเมอร์ได้นั้นยังเร็วไป ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมให้มากกว่านี้ อีกทั้งสารสกัดที่ว่าก็มีวางขายกันหลายชนิด หลายยี่ห้อ แต่ละชนิดก็มีองค์ประกอบทางเคมีแตกต่างกันไปตามแต่กรรมวิธีในการผลิต อีกทั้งยังไม่ทราบด้วยว่าองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดแปะก้วยที่ใช้ในการทดลองนั้นแตกต่างจากที่วางขายกันอยู่มากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงไม่มีใครยืนยันได้ว่าหากซื้อสารสกัดแปะก้วยในท้องตลาดมารับประทานแล้วจะได้ผลดีอย่างที่หวังไว้ แต่ผลเสียนั้นมีแน่ เพราะสารสกัดแปะก้วยนี้มีฤทธิ์ทำให้ความหนืดของเลือดลดลง ดังนั้นจะทำให้เลือดไหลแล้วหยุดได้ยาก ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับผู้ที่เป็นโรคบางชนิดอยู่ ดังนั้นผู้ที่ป่วยด้วยโรคอัลซ์ไฮเมอร์หากต้องการทดลองรับประทานสารสกัดแปะก้วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน


ดวงอาทิตย์เขียว

หากมีใครบอกว่าเคยเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีเขียว เราอาจคิดว่าคนผู้นั้นคงจะเพียน แต่แท้ที่จริงแล้วดวงอาทิตย์ก็มีสิทธิ์เป็นสีเขียวได้ อย่างที่เห็นในภาพนี้ (สังเกตตรงขอบด้านบนของดวงอาทิตย์ จะเห็นประกายสีเขียวเรือง) ภาพนี้ไม่ได้ผ่านการตกแต่งแต่อย่างใด ถ่ายจากสภาพธรรมชาติและใช้แสงตามธรรมชาติ

เราจะเห็นดวงอาทิตย์เขียวนี้ได้ตอนที่ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าหมดดวง และตอนที่ดวงอาทิตย์เริ่มปรากฏที่ขอบฟ้า แต่ละช่วงจะใช้เวลาเพียง 2-3 วินาทีเท่านั้น และไม่ได้เห็นเขียวไปทั้งดวง คงเห็นเป็นสีเขียวแต่เพียงขอบส่วนเดียวเท่านั้น หากเกรงว่าจะมองไม่ทันควรใช้กล้องถ่ายภาพไว้จะเห็นได้ชัดกว่า

ส่วนภาพถ่ายที่เห็นนี้ค่อนข้างจะหาดูและหาถ่ายได้ยาก เพราะสามารถเห็นขอบสีเขียวได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์เพิ่งจมหายไปที่ขอบฟ้า

ปรากฏการณ์นี้วิทยาศาสตร์อธิบายได้ว่าเกิดจากการหักเหของแสงในชั้นบรรยากาศของโลก เช่นเดียวกับที่เราเห็นดวงอาทิตย์ยามเช้าและเย็นเป็นสีแดง แต่ตอนกลางวันเป็นสีขาวเจิดจ้าจนแสบตา นั่นก็เพราะการหักเหของแสงผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเช่นกัน

อย่าว่าแต่เห็นสีแดงหรือเขียวเพียง 2 สีเลย หักเหให้เห็นเป็น 7 สีก็ยังได้ ก็รุ้งกินน้ำไง