ฮิโรชิมารำลึก (6)

โครงการแมนแฮตตันใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ แม้สงครามโลกจะยุติลงแล้ว แต่โลกใช่ว่าจะสงบ พลานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์ทำให้นานาประเทศต่างอยากได้มาครอบครองเพื่อความได้เปรียบในยามสงคราม ดังนั้นในยุคต่อมาจึงเป็นยุคของการคิดค้น พัฒนา และสะสมอาวุธนิวเคลียร์กันเป็นการใหญ่

เมืองฮิโรชิมาเป็นเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น แม้ชาวญี่ปุ่นจะรู้ล่วงหน้าว่าสหรัฐอเมริกาจะทิ้งระเบิดนิวเคลียร์แต่ก็หามีใครตระหนักถึงพลานุภาพของมัน ดังนั้นในวันที่เอนอลา เกย์นำ “เด็กน้อย” ไปทิ้ง เมืองฮิโรชิมาจึงยังมีผู้คนอาศัยอยู่นับแสนคน

เมื่อเอนอลา เกย์ถึงที่หมาย นักบินจึงปล่อยระเบิดนิวเคลียร์และรีบบินออกจากที่หมายโดยเร็วที่สุด ระเบิดนิวเคลียร์เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่และระเบิดกลางอากาศขณะที่ลอยอยู่เหนือเมืองฮิโรชิมาที่ความสูงราว 600 เมตร เกิดเป็นควันขาวอมเขียนพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นรูปดอกเห็นสูงถึง 10 กิโลเมตรอันเป็นลักษณะเฉพาะของระเบิดนิวเคลียร์ และแสงสว่างอันเจิดจ้า พลังงานอันมหาศาลที่ถูกปลดปล่อยออกมาในรูปของแรงอัดอากาศจากการระเบิด ความร้อน และกัมมันตภาพรังสี โดยที่ศูนย์กลางการระเบิดนั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 3,800 องศาเซลเซียส

ควันรูปดอกเห็ดพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า
เหนือเมืองฮิโรชิมา ภาพนี้ถ่ายจาก
เครื่องบินเอนอลา เกย์

ผลจากการระเบิดทำให้เกิดแรงลมขนาด 1,600 กม. ต่อ ชม. ซึ่งรุนแรงกว่าพายุเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดถึง 5 เท่า ชายผู้หนึ่งซึ่งกำลังนั่งรออยู่ที่หน้าประตูธนาคารเพื่อให้ธนาคารเปิดทำการห่างจากจุดศูนย์กลางของระเบิดราว 200 เมตรถูกเผาไหม้เป็นจุในพริบตา ความร้อนอันมหาศาลได้ทำให้พื้นหินบริเวณนั้นเปลี่ยนสภาพไป ยกเว้นแต่ตรงที่ชายผู้นั้นเคยนั่งอยู่เพราะร่างของเขาช่วยบดบังความร้อนเอาไว้ พลานุภาพของ “เด็กน้อย” มีมากมายเกินกว่าที่ชาวญี่ปุ่นจะนึกถึง

ในขณะที่รัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นกำลังตื่นตระหนกต่อฤทธิ์เดชของระเบิดนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีทรูแมนแห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ยื่นคำขาดอีกครั้งเพื่อให้ญี่ปุ่นยอมจำนน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเงียบเฉย ในที่สุดทรูแมนจึงได้สั่งให้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่นเป็นลูกที่ 2

ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 นี้มีชื่อว่า “คนอ้วน” (Fat Man) เหตุที่มีชื่อว่าคนอ้วนเพราะมีขนาดอ้วนใหญ่กว่า “เด็กน้อย” ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 นี้มีแรงระเบิดเท่ากับลูกแรก เป้าหมายคือเมืองนางาซากิ

ระเบิดนิวเคลียร์ ด้านซ้ายคือ
“เด็กน้อย” ส่วนด้านขวาคือ
“คนอ้วน”

และแล้ว ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 หรืออีก 3 วันถัดมา โศกนาฏกรรมของมนุษยชาติอีกฉากหนึ่งก็ได้อุบัติขึ้น เมืองนางาซากิราพณาสูรในพริบตาด้วยอำนาจของ “คนอ้วน”

ความหายนะของเมืองฮิโรชิมาหลังถูกระเบิดนิวเคลียร์

ในที่สุด รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนไว้ เพราะมิเช่นนั้นอาจมีระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 3 ตามมาอีก ส่วนพิธีการลงนามอย่างเป็นทางการนั้นได้จัดขึ้นต่อมาในตอนปลายเดือน

ตึกทรงโดมที่เห็นอยู่นี้เป็นตำแหน่งที่ระเบิดนิวเคลียร์ระเบิดอยู่เหนือ
เมืองฮิโรชิมาพอดี ตึกนี้ต่อมาได้ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์สถาน

และแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยุติลง ผลของระเบิดนิวเคลียร์ทำให้ที่เมืองฮิโรชิมาประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตทันทีจากการระเบิดถึง 70,000 คน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในภายหลัง (ภายในปีเดียวกัน) อีกราว 70,000 คน ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตภายหลังนี้ต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสก่อนเสียชีวิตจากแผลไฟลวกและผลจากกัมมันตภาพรังสี และประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตตามมาอีก 60,000 คนในช่วง 6 ปีถัดมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากกัมมันตภาพรังสี รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน

ผู้ได้รับบาดเจ็บจากผลของระเบิดนิวเคลียร์ต้องทนทุกข์
ทรมานจากบาดแผลไฟลวกและกัมมันตภาพรังสี

ส่วนที่เมืองนางาซากินั้นก็มีชะตากรรมไม่แพ้กัน มีผู้เสียชีวิตในทันทีราว 70,000 คน บาดเจ็บอีกราว 80,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ผลของกัมมันตภาพรังสียังทำให้ผู้ที่ได้รับรังสีกลายเป็นมะเร็งในภายหลังได้อีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้ไม่สามารถประเมินได้แน่นอนว่ามีจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมความผิดปกติทางพันธุกรรมอันเป็นผลจากกัมมันตภาพรังสี

ผลของความร้อนจากระเบิดนิวเคลียร์
ทำให้ผิวของถนนเปลี่ยนสภาพไป
พื้นถนนส่วนที่เห็นเป็นเงาขาวนั้นเกิด
จากแนวเสาที่ราวสะพานช่วยบดบัง
พายุความร้อนเอาไว้
เงาของวาล์วที่เห็นบนผนังนั้นไม่ได้เกิดจากเงา
แดด แต่เป็นเงาถาวรที่เกิดจากพายุความร้อน
ของระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำให้สีที่ผนังเปลี่ยนสภาพไป
ส่วนที่เป็นเงานั้นเป็นสีที่ไม่เปลี่ยนสภาพอัน
เนื่องมาจากตัววาวล์วช่วยบังพายุความร้อนเอาไว้
พิธีลงนามในสนธิสัญญา
ยอมจำนนของญี่ปุ่น ณ
เรือรบมิสซูรีของสหรัฐ-
อเมริกาที่จอดอยู่ในอ่าว
โตเกียวเมื่อวันที่ 31
สิงหาคม ค.ศ. 1945

โครงการแมนแฮตตันใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ แม้สงครามโลกจะยุติลงแล้ว แต่โลกใช่ว่าจะสงบ พลานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์ทำให้นานาประเทศต่างอยากได้มาครอบครองเพื่อความได้เปรียบในยามสงคราม ดังนั้นในยุคต่อมาจึงเป็นยุคของการคิดค้น พัฒนา และสะสมอาวุธนิวเคลียร์กันเป็นการใหญ่ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกนี้เท่านั้นที่ถูกใช้ในการสงคราม ส่วนที่ถูกสร้างขึ้นมาในภายหลังล้วนแต่ยังไม่ได้นำออกมาใช้งาน (ยกเว้นในการทดลอง) เพียงมีไว้เพื่อสร้างความหวั่นเกรงให้แก่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

ระเบิดนิวเคลียร์ในปัจจุบันมีอานุภาพรุนแรงกว่า “เด็กน้อย” และ “คนอ้วน” ราว 8-40 เท่า คงไม่ต้องบอกว่าหากมีการใช้งานจริง ความหายนะที่เกิดขึ้นจะมากมายเพียงใด และยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจกับความเร้นลับของพลังงานอะตอมได้มากยิ่งขึ้น ปฏิกิริยาการแบ่งนิวเคลียส (nuclear fission) ให้พลังงานอันมหาศาลก็จริง แต่ปฏิกิริยาการรวมนิวเคลียส (nuclear fusion) กลับให้พลังงานมหาศาลยิ่งกว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ปฏิกิริยาการรวมนิวเคลียสมาสร้างเป็นระเบิดไฮโดรเจนซึ่งเป็นปฏิกิริยาเดียวกันกับที่เกิดบนดวงอาทิตย์และมีอานุภาพร้ายกาจกว่าระเบิดนิวเคลียร์ถึงพันเท่า นอกจากนี้ ยังมีระเบิดนิวตรอนซึ่งมุ่งทำลายเฉพาะสิ่งมีชีวิตโดยไม่ทำลายตึกรามบ้านช่อง

จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่สะสมอยู่ในรัฐต่างๆของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน (ค.ศ. 1997) รวมแล้วกว่า 12,000 ลูก

ไม่มีใครทราบว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะดุเดือดและรุนแรงเพียงใด แต่แน่ใจได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 4 นั้นมนุษย์จะต่อสู้กันด้วยท่อนไม้และก้อนหิน ดังนั้นจึงได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิจะไม่เกิดขึ้นอีกตราบนานเท่านาน

จบ