สมถกัมมัฏฐาน

การฝึกใจให้เป็นหนึ่งกับอารมณ์ (อารมณ์สงบ)
ขั้นตอนที่ 1.
วิธีเตรียมรับอารมณ์
ให้นั่งขัดสมาธิในท่าปกติ คือผู้ชายให้เอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางบนตัก งับปาก หลับตา การหลับตาทำสมาธิ อย่าบังคับ หรือบีบกล้าเนื้อตา ตัวตั้งตรงอย่าเกร็ง ผู้หญิงนั่งพับเพียบ มือขวาทับมือซ้าย วางบนตัก หลับตา งับปาก ตัวตั้งตรง ลำคอตั้งตรง อย่าให้เกร็งเกินไป ลักษณะท่านั่งแบบนี้ เป็นท่านั่งที่สุภาพเหมาะสำหรับช่วงการทำร่วมกับคนหมู่มาก จะทำให้มองดูเรียบร้อยดี แต่ถ้านั่งคนเดียว อาจเปลี่ยนแปลงได้ให้ถูกกับอัทธยาศัย แรกๆ นั้นควรเลือกสถานที่ ที่สงบ วิเวก ไม่พลุกพล่าน ด้วยผู้คน หรือเสียงรบกวนเกินไป

ขั้นตอนที่ 2. วิธีปล่อยวางอารมณ์
เนื่องจากจิตชอบยึดติดในอารมณ์ซึ่งเป็นอาหารของมัน ลำพังของจิต ถ้าไม่มีอารมณ์มากระตุ้นมัน มันก็ไม่มีหน้าที่ จะเข้าภวังค์ รู้สึกง่วงซึมเพราะไม่มีอาหาร ถ้าเรามีความฟุ้งซ่านจิตมีหน้าที่มาก อาหารมันก็มาก จะทำให้สงบได้ยาก เราต้องการอยากให้มันสงบ เราต้องไม่ให้อาหารมัน โดย
วิธีที่ 1 ทำดังนี้ ปล่อยวาง อดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่จิตเข้าไปยึดเกาะว่าเป็นตัวตน แม้กระทั่ง ขณะที่ตนเองนั่งอยู่นั้น ความรู้สึกขณะนั้นก็ต้องปล่อย บาป บุญ คุณ โทษ ทุกสิ่ง ทุกอย่างปล่อยวางหมดให้มันไปพร้อมกับลมหายใจออก เหมือนกับสายน้ำที่ไม่ย้อนกลับมา ทำไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นว่า ความคิด ความนึก ความวิตก กังวล เจ็บปวด มันาจะคลายลงทีละน้อยทีละน้อย จนเหมือนกับว่าไม่มี จะรู้สึกง่วงนอน ถ้าคนปล่อยขั้นตอนนี้ไม่เป็น ไม่รู้จะปล่อยอย่างไร ให้นึกถึงว่า ขณะนี้เรากำลังจะนอนหลับ ซึ่งลักษณะคล้ายกัน ถ้าปล่อยไปแล้ว ความคิด ความนึก ความวิตก กังวล ความเจ็บปวดไม่ยอมออก ทำตั้งนานก็ไม่ยอมคลาย ให้ใช้วิธีที่ 2
วิธีที่ 2 ถ้าจิตของเราติดความคิด มันจะไปติดที่สมองมืดตื้ออยู่ ทำให้สมองของเราไม่โล่ง สัญญาภาพในอดีตมันจะมาปรากฏให้เห็นไม่ยอมไป ให้เรากำหนดไปที่สมองว่า คิด แล้วก็ปล่อยลมออกไปเป็นจังหวะๆ ใจเป็นกลางมันจะออกไม่ออกเป็นเรื่องของมัน ใจเฉยอยู่ หน้าที่ของเราก็กำหนดไปเรื่อยๆ เหมือนคนกำลังวิดน้ำออกจากโอ่ง ถ้าทำไปนานๆ ความคิดจะออกไปทีละนิดๆ จนสมองโล่งโปร่ง แสดงว่าความคิดหยาบๆ ออกไปแล้ว เรื่องความคิดนี้เป็นเรื่องสัญญาในอดีต อย่าเพิ่งท้อเสียก่อน
ถ้าจิต ของเราติดความนึก มันจะเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งฐานอยู่ที่ใจ เราต้องกำหนดไปที่หัวใจว่า นึกแล้วก็คลายลมออกมาเป็นจังหวะๆ ทำไปนานๆ ความนึกนี้ จะคลายลงไปเรื่อยๆ เราควรทำใจให้เป็นกลาง มันจะออกไม่ออกเป็นเรื่องของมัน หน้าที่ของเรา กำหนดไปเรื่อยๆ ไม่นานมันก็ออกไป
ถ้าจิตของเราติดอาการทุกขเวทนา มันจะเกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ในร่างกาย ถ้าจุดไหนเจ็บมาก จิตจะไปติดอยู่ที่นั่น ให้กำหนดไปที่นั่น ถ้ามันเจ็บ จิตไปกระทบที่เจ็บ แล้วปล่อยออกมาเป็นจังหวะๆ ใจเป็นกลาง หายไม่หายเป็นเรื่องของมันหน้าที่ของเราคือกำหนดคลายอารมณ์เท่านั้น ทำไปเรื่อยๆ อาการเจ็บปวดก็จะค่อยทุเลาลง ถ้ามีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ ไม่สบายใจ ก็กำหนดในอาการนั้น ถ้ามันร้อนก็กำหนดร้อนก็ปล่อยออกไปจนมันคลาย
การกำหนดคลายอารมณ์ ขั้นที่ 2 ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลความนึก ความคิด ความวิตก กังวล เจ็บปวด ไม่ยอมคลายใหใช้วิธีที่ 3
วิธีที่ 3 กลั้นลมหายใจ แล้วนึกไปที่จิตมันยึดติดอยู่เช่น มันติดที่สมอง ให้กลั้นลม แล้วนึกไปที่สมอง กักลมไว้ไม่ยอมให้ลมเข้า ลมออก ทำไปสักครู่จะเห็นว่าสมองของเราเหมือนจะระเบิด จะเห็นความคิดในสมองสลาย แล้วเราค่อยคลายลมหายใจออกมา จะเห็นว่า เรื่องที่เราคิดในอดีตจางคลายลงไป ถ้ามันยังคิดอีก ให้กลั้นลมนึกไปที่สมองอีก จนมันสลายไปในที่สุด แสดงว่า สัญญาความคิดในสมองจางคลายลงแล้ว
ถ้ามันติดความนึก ให้กลั้นลมแล้วนึกไปที่ใจ ถึงเรื่องที่นึกนั้น กักลมเข้าลมออกไม่ให้ไปถึงใจ จนเรื่องที่นึกนั้นดูเหมือนจะระเบิดละลายออกไป ให้ปล่อยลมออกมา ถ้ามันยังมีความนึกอีก ก็กลั้นจะรู้ตนเองดีว่า ขนาดกลั้นลมนั้น ตนเองจะทนได้แค่ไหน ถ้าเกิดมีอาการเจ็บหัวใจ สักระยะหนึ่งก็จะหาย
ถ้ามันยึดในเจ็บปวด ให้กลั้นลมแล้วนึกไปที่เจ็บปวด ทำไปนานๆ จะเห็นว่าที่เจ็บปวดนั้น เราจะทำให้มันหายสนิทไม่ได้นอกจากลุเลา เพราะเป็นเรื่องของขันธ์ธาตุเสื่อม
วิธีคลายอารมณ์ วิธีแรกนั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ยึดติดในอารมณ์น้อย วิธีที 2 เหมาะสำหรับผู้ติดในอารมณ์ปานกลางวิธีสุดท้ายเหมาะสำหรับผู้ติดในอารมณ์มาก แล้วแต่ผู้ปฏิบัติจะเลือกเอาวิธีไหนที่คลายเร็วที่สุด เพื่อที่จะให้จิตเราได้สงบเร็วขึ้น ตอนฝึกใหม่ๆ ควรฝึกใช้วิธีแรกก่อน ถ้าไม่คลายก็ใช้วิธีที่ 2 และที่ 3 จนคลายอารมณ์ได้ในที่สุด ถึงขึ้นขั้นตอนใหม่ๆต่อไป ถ้าหากคลายอารมณ์ได้แล้วในวิธีที่ 1 ไม่จำเป็นต้องใช้ วิธีที่ 2 - 3 อีก


ขั้นตอนที่ 3. วิธีหาจุดที่จะเอาจิตเข้าไปตั้งในฐานกึ่งกลางของอารมณ์ เมื่อเราคลายอารมณ์ในขั้นตอนที่ 2 แล้วจะรู้สึกว่าจิตไม่ยอมรับอารมณ์ อาหารของจิตไม่มี มันจะเข้าภวังค์ ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ มันจะหลับไป ดังนั้นเราจะต้องกระตุ้นจิตโดยไปกำหนดดูลมหายใจ เข้าออก อย่าหายใจเร็วเกินไปจะทำให้หายใจหอบถี่ ถ้าหายใจช้าเกินไป จะทำให้แน่นหน้าอก ให้พอดีตามปกติ ในการหายใจ เมื่อหายใจเป็นปกติแล้ว เราควรหาจุดที่จะเอาจิตไปตั้งไว้ จุดนี้จะต้องเป็นจุดกึ่งกลางของลมเข้าออกจริงๆ ถ้าถูกจุด เราเอาจิตไปตั้งไว้จะสงบได้ทันที ตามวิธีหาจุดดังต่อไปนี้
วิธีที่ 1 สังเกตดูลมเข้าออกว่า จะผ่านจุดใดมากที่สุดคือที่สุดของโพรงจมูก 2 ข้างไปบรรจบกับด้านใน เราหายใจเข้าไปดูเหมือนว่ามีใยรับลมเข้าจะรู้สึกว่าเย็น เวลาหายใจออกที่ตรงนี้จะรับลมออกรู้สึกอุ่น ถึงเราเพ่งจิตลงตรงนี้ จะรู้สึก เย็น-อุ่น เย็น - อุ่น ทำไปเรื่อยๆ จะเหมือนดังลมพัด จุดนี้เต้นแพลบๆ แสดงว่า เราได้จุดนี้แล้ว ถ้าผู้ปฏิบัติค้นหาจุดนี้โดยวิธีนี้ไม่ได้ ให้หาวิธีที่ 2 ต่อไป
วิธีที่ 2 ปล่อยลมหายใจออกมาจากจมูกจนสุดลมหายใจออก ลมนั้นจะหดขึ้นของมันเอง เราใช้จิตของเราตามลมที่หดขึ้นไป ถ้ามันหยุดตรงไหนจำจุดนี้ไว้ให้ดี ทดลองทำ 2 - 3 ครั้ง เมื่อรู้แน่ว่าจุดนี้ ลองหายใจออกมาจะรู้สึกว่าลมที่ออกทั้งหมด ออกมาจากจุดนี้ ลองหายใจออกมาจะรู้สึกว่าลมที่ออกทั้งหมด ออกมาจากจุดนี้ แสดงว่าจุดที่เราจะเอาจิตไปตั้งบนฐานของอารมณ์ได้แล้ว ซึ่งจุดนี้คือจุดเดียวกับที่รู้สึก เย็นอุ่น ในวิธีแรก ถ้าวิธีที่ 2 ยังหาจุดไม่เจอให้ใช้วิธีที่ 3
วิธีที่ 3 ใช้ยาดมที่สูดดมแก้เป็นลม สูดเข้าไปแรงๆ จะกระทบจุด จุดนี้จำไว้ให้ดี เพราะเราจะเอาจิตไปตั้งบนฐานของจุดนี้

ขั้นตอนที่ 4. วิธีเอาจิตไปตั้งบนฐานของอารมณ์ ทำให้สงบ เมื่อเราได้จุดแล้วตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังได้กล่าวมาแล้ว ให้รวบรวมความรู้สึกนึกคิดไปรวมกันเป็นจุดลงตรงจุดนั้น เมื่อเรากดความรู้สึกลงทับจุดใหม่ๆ ถ้าเรากดความรู้สึกมาก จะทำให้หายใจอึดอัด จมูกของเราเหมือนถูกอุด เราควรกดความรู้สึกลงน้อยๆ ผ่อนคลายลมหายใจเข้าออกให้เบาลงๆ จนลมหายใจหายไปกับจุดนั้น เราอย่าตกใจว่าจะตาย เป็นเพียงแค่ลมหายใจหยาบดับไป ลมหายใจละเอียดยังมีอยู่ ซึ่งระบายออกได้ทุกรูขุมขน เมื่อลมหายใจหยาบหมดไป จิตจะนิ่งอยู่ที่จุดนั้นเป็นหนึ่งเดียว ความรู้สึก นึกคิด ความวิตก กังวล คลายลงเหลือแต่ความรู้สึกสงบนิ่งอยู่ในจุดนั้นเป็นจุดเดียว แสดงว่าเราสามารถทำจิตให้เป็หนึ่งเดียวกับอารมณ์ได้แล้ว ก็จะถึงความสงบนิ่งเป็นสมาธิ หน้าที่ของเราในขั้นนี้คอยปรับลมเข้าออกให้เป็นหนึ่งกับจุดที่เราตั้งไว้ เราก็ได้ความสงบขึ้นเรื่อยๆ

การฝึกจิตให้เป็นหนึ่งกับใจ (ใจสงบ)
เมื่อเราทำจุดบนฐานในจมูกเป็นหนึ่งเดียวกับจิตแล้วจะเห็นว่า จุดนี้การรวมตัวให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย แต่มันคอย จะเลื่อนเข้าเลื่อกไปพร้อมกับลมหายใจเสมอ เพราะมันอยู่นอกเกินไป เราควรจะให้จุดนี้เข้าไปอยู่ลึกกว่านี้ จุดนี้เรียกว่าใจ เพื่อที่จะให้จิตรรวมตัวกันได้นานๆ เพื่อให้เกิดความสะอาดสว่าง สงบ ซึ่งมี 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 ดึงจิตจากฐานของอารมณ์มาสู่ใจ ให้นึกไปถึงจุดที่เราตั้งจิตไว้แล้วตั้งแต่ต้น คือ ที่สุดของโพรงจมูกเสร็จแล้วให้พยายามดึงความรู้สึกจากจุดนี้ เลื่อนความรู้สึกลงไปช้าๆ เข้าไปที่หัวใจ เมื่อจุดนี้เข้าไปถึงใจจะรู้สึกเหมือนกับว่า หัวใจของเราถูกอุดหรือทับไว้ อย่าเพิ่งตกใจ เพราะหัวใจ กำลังทำงานอยู่เป็นปกติ เราควรกดความรู้สึกลงที่หัวใจช้าๆ เบาๆ ถ้ากดความรู้สึกมากหรือแรงจะทำให้หัวใจเหมือนถูกอุดเมื่อกดลงเบาๆ ควรผ่อนลมในหัวใจที่คงค้างอยู่ออกมาช้าๆ พร้อมกับกดจิต ความรู้สึกลงไปเรื่อยๆ จนลมในหัวใจหมดความรู้สึกของจิตไปสนิทแนบแน่นกับใจ จิต ใจ อารมณ์เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นสมาธิที่แนบแน่นกับใจ เกิดความสะอาดสว่าง สงบ เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน
อุปสรรค์ในขั้นตอนนี้ก็คือ การหาตำแหน่งของหัวใจไม่เจอ เราควรหาตำแหน่งของหัวใจ ดังนี้
1. หายใจเข้าแล้วนึกไปถึงที่หัวใจ จะรู้สึกว่าลมไปกระทบที่หัวใจ ที่ลมไปกระทบนั่นแหละ คือใจ
2. ใช้เครื่องมือที่นายแพทย์ใช้ตรวจวัดการเต้นของหัวใจเพื่อหาตำแหน่งจุดที่มีแรงเต้นมากนั่นแหละ คือใจ
เมื่อเรารู้ตำแหน่งใจแล้ว ค่อยๆ เลื่อนจิตจากฐานของอารมณ์มาสู่ใจ ตามตำแหน่งที่ค้นไว้แล้วในขั้นตอนที่ 2 แล้วกดให้ลงอยู่ในตำแหน่งนี้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้น

วิปัสสนา


เมื่อเราทำจิตให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบ เป็นหนึ่ง เดียวกับอารมณ์ของใจแล้วจะเห็นว่าจิตเป็นสุขมาก ยิ่งลึกเข้าไปเท่าไรยิ่งเกิดความสุข แต่ปัญญาไม่ได้เกิด เพราะไปติดกับสุขข้างในใจ การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่หวังผลที่จะให้สุขส่วนเดียวหามิได้ ทุกข์จะไม่พ้น เพราะสุขกับทุกข์อาศัยต่อเนื่องกันอยู่เราควรหาอุบาย เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความสุข และความทุกข์ (วิปัสสนา) โดยทำดังนี้

วิธีเจริญสติ
ดึงความสงบที่เคยได้จากการฝึกสมถกัมมัฏฐาน สงบที่ใจ มาสู่ความรู้สึกจากภายนอก คือ ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง เราควรดึงความรู้สึกจากใจออกมารับ อารมณ์ภายนอกช้าๆ เมื่อมาสู่ความรู้สึกภายนอกตามตำแหน่งใด ตำแหน่งหนึ่งที่จิตชอบมาก อาทิ เช่น หู ก็เอาจิตเลื่อนออกจากใจมาไว้ที่หู จะเห็นว่า หู ถูกระทบจากเสียง ถูกจุดนี้เป็นจังหวะๆ แพล๊บๆ เกิด - ดับ เกิด - ดับ ถ้าเราใส่เจตนาลงบนจุดนตั้น จะเกิด - ดับ เร็ว ถ้าใส่เจตนาเบาๆ จะเกิด - ดับ ช้า ถ้าเราไม่ใส่เจตนา อาการเกิด - ดับ ก็เท่าเวลาของโลก 1 วินาที
ในทำนองเดียวกัน เราอาจเอาจิตไปตั้งบนฐานความรู้สึกภายนอกต่างๆ ตามจิตที่อยากไปเป็นอิสระ เช่น ตา จมูก ลิ้น กาย สมอง ทำเหมือนทีเราเคยทำมาแล้ว จาก ตา เมื่อเราดึงจิตมาสู่ความรู้สึกภายนอกแล้ว อย่าพยายามเข้าไปสู่ข้างในอีก เพราะนิสัยเคยชินที่จิตติดสุข อารมณ์ของใจจะดึงเราไว้ไม่ให้ออกมา จะทำให้เราไม่มีปัญญาเห็นอาการ เกิด - ดับ เมื่อเรามาอยู่ภายนอก ความสุขที่เคยได้จากใจ จะไม่ได้แล้ว มีแต่ความรู้สึกเป็นปัจจุบันขณะเห็นอาการ เกิด - ดับ ทั่วๆไปตามจุดประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง ถ้าเหมือนแต่ก่อน ให้ไปกระทบใจเบาๆ จะเห็นว่า ใจถูกกระทุ้ง เกิด - ดับ , เกิด - ดับ , จากอารมณ์ที่มากระทบเป็นปัจจุบันขณะอย่าบังคับให้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ทำเป็นปกติ อิสระ เห็นอาการ เกิด - ดับ อยู่เนืองนิจ ตลอดสาย เหมือนชีพจรเต้น ถ้าคนไหนไม่รู้จะเจริญสติให้เป็นปกติให้จับชีพจรของตนเอง แล้วทำจิตที่กระทบประสาทสัมผัส ให้เท่ากับจังหวะการเต้นของชีพจรแสดงว่า เป็นปกติแล้ว (สำหรับคนที่ไม่เจ็บป่วย ชีพจรจะเป็นปกติ ถ้าเจ็บป่วยจะเอามาเทียบไม่ได้) เมื่อเราทำดังนี้ไปนานๆ ก็จะเป็นการเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะทำให้จิตหลุดพ้น มีดวงตาเห็นธรรมได้เหมือนกัน แต่ต้องใช้เวลาการปฏิบัติมาก เราควรเร่งสติให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะให้จิตหลุดพ้นเร็วขึ้น ควรทำตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

วิธีเร่งสติ
ขั้นตอนที่ 1
ดูความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกภายนอก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง) สัมพันธ์กับความรู้สึกภายใน (ใจ) เมื่อเราดูอาการ เกิด ดับ จากความรู้สึกกระทบภายนอก มันจะพยายามเข้าไปสัมพันธ์ กับความรู้สึกภายในเสมอ เช่น หูกระทบด้วยเสียง มันจะกระเทือนเข้าไปถึงหัวใจ แล้วรู้ผ่านใจวนกลับมาที่เสียงใหม่อีก วนเป็นรอบๆ ในทำนองเดียวกันทาง ตา จมูก ลิ้น กาย สมอง ก็ถูกกระทบจากรูป กลิ่น รส กายสัมผัส ก็จะวนเข้าสู่ใจเสมอ วนไป วนมา ไม่รู้จักจบสิ้น ในทำนองเดียวกัน อารมณ์กระทบใจ ก็จะวนกลับมาสู่ความรู้สึกภายนอก แล้ววนเข้าไปใหม่อีก เป็นรอบๆ ลักษณะการวนเช่นนี้ ถ้าเราจับได้จะเป็นประโยชน์การเร่งสติกมาก

ขั้นตอนที่ 2 ใส่เจตนาของจิตเข้าร่วมกับอาการหมุดวน ถ้าเราสามารถทำความสัมพันธ์ในอาการ ระหว่างความรู้สึกภายนอกกับความรู้สึกภายในได้แล้ว ให้ใส่เจตนาของจิตร่วมลงไปในอาการหมุนวนนั้น ตอนแรกๆ ใส่เจตนาลงช้าๆ เพื่อที่จะให้จิตคล่องตัวร่วมในอาการหมุนทุกจุดที่หมุนไปให้จิตวนอยู่ในอาการหมุนนั้นๆ อย่าเอาจิตมาใช้ในหน้าที่อื่น ควรเข้าร่วมอยู่ในอาการหมุด ตอนแรกมันจะช้าๆ ถ้าชำนาญแล้วมันจะเร็วขึ้นอาการหมุนวนจะเร็วขึ้นตามลำดับ จนอาการทางกายคล้อยหมุนตามไปด้วย แสดงว่าเราคล่องในอาการหมุนแล้ว

ความเข้าใจเกี่ยวกับการหมุน
ก. สิ่งที่หมุนจากประสาทภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดกระทบจุดที่กระทบนี้จะไปสัมผัสกับใจภายในใจ เราอย่าเอาจิตไปสุดโด่งข้างนอกหรือข้างใน ให้จิตมีส่วนร่วมทุกจุดในเจตนาที่หมุนไป
ข. ถ้าธรรมารมณ์กระทบใจข้างใน อาทิ เช่น เราโกรธอารมณ์อัดแน่นใจ ให้เอาความอัดแน่นนั้น ไปหมุนกับใจ มันจะหมุนคลายออกมาเหมือนการคลายเกลียวน๊อต ถ้าธรรมารมณ์ออก เราเคยกักอารมณ์ต่างๆ ในอดีตไว้ เช่น ร้องให้ หัวเราะ ความคับแค้นใจมันจะระบายให้เราเห็นอีก จะมีอาการร้องให้หัวเราะ รำพึง รำพัน ก็อย่าตกใจ อาจมีการสลัดอารมณ์จนถึงกระทั่งขณะที่นั่งอยู่ก็ล้มหงายหลังลงได้ บางทีถึงกับทำให้จิตหลุดพ้นไป ทำให้มีดวงตาเห็นธรรมได้..
ค. การหมุนคือ ความรู้สึกหมุนวนจากความสัมพันธ์ภายนอกกับความรู้สึกภายใน การทำจิตให้ร่างกายหมุนไม่ใช่การหมุน 2 ส่วน ถ้าหมุนแบบนี้จิตจะไม่หลุด

ขึ้นตอนที่ 3 ปล่อยวางความรู้สึกในการหมุน ถ้าเราทำไปนานๆ ความเร็วของการหมุนจะเร็วขึ้น ๆ จนไม่สามารถรับแรงหมุนได้ ให้ปล่อยความรู้สึกในการหมุนเสีย จิตก็จะพุ่งพรวดออกไปจากแรงเหวี่ยงของการหมุน ถ้าแรงเหวี่ยงมีมาก จิตจะหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่ง มีดวงตาเห็นธรรมทันทีถ้าแรงเหวี่ยงมีไม่มาก จิตจะลอยไปสู่ข้างบน นิ่งอยู่ ถ้าจิตอยู่ที่นั่นนานๆ จะมีแรงสันตติมากระทบที่จิตนิ่งนั้น ติ๊กๆๆ เมื่อเราปล่อยให้มันชนกันไปนานๆ จนหมดแรง จะเห็นว่า จิตลอยเคว้งคว้าง ไม่มีที่ยึดเกาะ แล้วปล่อยความรู้สึกนั้น ไม่ต้องห่วงไม่อาลัยอาวรณ์ เรื่องอะไรต่างๆ ที่จิตยึดติดให้ปล่อยวางให้หมดแม้กระทั่งความตายที่จะเกิดขึ้น ก็ให้ปล่อยไป เมื่อปล่อยแล้วก็จะถึงสภาวะจิตหลุดพ้นสภาวะปรุงแต่ง มีดวงตาเห็นธรรมซึ่งผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้ รู้ได้เฉพาะตน

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว

เมื่อนักปฏิบัติดำเนินการปฏิบัติมาจนถึงวิธีเร่งสติ ได้ทำความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกภายนอกกับความรู้สึกภายในและทำการหมุนแล้วปล่อยความรู้สึกในการหมุน มีจิตพุ่งออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น บางคนออกทางสมอง ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ฯลฯ เมื่อจิตหลุดออกมาพ้นจากสภาวะปรุงแต่งจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ แล้วก็จะเข้าสู่สภาวะเดิมของจิต คือ โล่งโปร่ง หรือเข้าถึงธรรม เมื่อเรามาสู่ที่นี่ใหม่ๆ จะพบแสงสว่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน (ธรรมจักษุ) ซึ่งแสงสว่างนี้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาหรือรู้ด้วยใจ เป็นแสงสว่างที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของจิต ซึ่งเราปิดตาแล้วแสงสว่างยังทะลุเปลือกตา ไม่มีความแตกต่างในการเห็นระหว่างข้างในและข้างนอก สว่างไปทั่วสากลจักรวาล ซึ่งผู้ปฏฺบัติจะรู้เห็นได้เฉพาะตน เมื่อเขาเจอแสงสว่างนี้ใหม่ๆ ตาของเขาเหมือนจะเปิดแต่ไม่เปิด ขยิบตั้งหลายครั้ง ซึ่งลักษณะนี้มันจะไปทำลายสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ความสงสัย เรื่องต่างๆ ที่เราเคยสงสัยมาก่อนจะหมดไป
2. ความเห็นเกี่ยวกับสมมุติและบัญญัติของโลก และการปฏิบัติเกี่ยวกับสมมุติและบัญญัตินั้น ว่าเราควรปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิ การไหว้พระ สวดมนต์อื่นๆ เพื่อจะไม่ไปทำลานสมมุติและบัญญัติในตัวเราเอง หรือให้ผู้อื่นเดือนร้อน
3. ความเห็นเกี่ยวกับตัวตน ร่างกาย จิตใจ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นสิ่งที่มาจากเหตุและปัจจัยต่อเนื่องกันไม่มีตัวตนถาวรที่ไหน เมื่อปัจจัยส่งมาหาเหตุ เมื่อมีเหตุเกิดผลก็เกิด เมื่อเหตุดับ ผลก็ดับ เช่น ความรู้สึกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเหตุปัจจัย แสง เสียง กลิ่นรส สัมผัส อารมณ์ ส่งเข้ามากระทบกัน เมื่อตาไม่บอด หูไม่หนวก แสดงว่า เหตุยังไม่ดับ ย่อมส่งผลต่อเนื่องกันเป็นสายวนไปวนมา ไม่มีตัวตนถาวรที่ไหน คนที่หลุดพ้นสภาวะปรุงแต่งแล้ว จะเห็นเกี่ยวกับตัวคนนี้ชัดมาก ไม่เหมือนการเจริญสติ เพราะการเห็นแบบนี้สภาวะของขันธ์ถูกตัดขาดจากการปรุงแต่งแล้ว..
ระยะที่แสงสว่างนี้กำลังทำลายสิ่ง 3 สิ่งที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นอยู่นั้น ผู้ปฏิบัติจะมีแสงสว่าง ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวเองตลอดเวลา บางคนอาจมีแสงสว่างนานถึง 7 วัน หรือบางคนนานประมาณ 1 - 2 แล้วแต่บุคคลผู้นั้นจะหมดความสงสัยเรื่องทั้ง 3 และยอมรับตนเองว่าได้เข้าถึงธรรมแล้ว ถึงแสงสว่างนี้จะหมดไป ถ้าไม่ยอมรับหรือสงสัยอยู่ แสงสว่างนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างที่แสงสว่างนี้เกิดขึ้น บุคคลผู้นั้นจะนอนไม่หลับแต่ไม่รู้สึกเพลีย ระยะนี้อย่ากดข่มให้นอนหลับเพราะจะทำให้ไม่หายสงสัย เมื่อนอนไม่หลับให้นำความคิดความสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สวรรค์ นรก นิพพาน ความดีความชั่ว หรืออื่นๆ เข้าไปละลายในแสงสว่างนั้น ทุกสิ่งที่เรา ข้องติดไม่หายสงสัยให้นำมาละลายในแสงนี้ให้หมด เมื่อหมดแล้วภาวะหลับก็จะเกิดขึ้นมาของมันเอง..

การมองเห็นทางเดิน เมื่อสภาวะคืนเป็นปกติแล้ว สภาพตัวของเราก็เหมือนคนปกติสามัญทั่วไป แต่เราเริ่มมองเห็นทางเดินของชีวิตของเราว่า จะเดินไปในแนวไหน ซึ่งแต่ก่อนนั้นเราไม่รู้จะหันเหชีวิตของเราไปทางไหน ไม่รู้แนวทางเดินของชีวิตที่แน่นอน แต่เดี๋ยวนี้เรามองเห็นแล้วว่าไม่มีทางอื่นที่จะยิ่งกว่าเส้นทางที่เราได้ใหม่ ซึ่งจากสภาวะก่อนเคยคลุมเครือสงสัย เปลี่ยนเป็นสภาวะที่โล่งโปร่งปราศจากการกังวลใดๆ มีชีวิตอิสระต่อเครื่องข้องทั้งหลาย (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์)
การปฏิบัติการเดินทาง เมื่อเราได้ทางเดินใหม่ๆ สิ่งที่เราได้กระทบจากทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีปฏิกิริยาต่อเราบ้าง คือ เก็บไว้เป็นอารมณ์รักหรือชัง (กิเลส) อารมณ์ อันนี้แหละจะไปขัดขวางทางเดินของเราไม่ให้เป็นอิสระโล่งโปร่งเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งกีดขวางเกิดขึ้นอีก เราจึงต้องมีสติต่อการรู้ การเห็น การคิด การนึก การกิน การนอน การทำงาน การพูด การเดิน ฯลฯ สติอันนี้คือ การไม่ไปสุดโต่ง ส่วน 2 ส่วน คือ ผู้ทำกับสิ่งที่ถูกกระทำ ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ผู้คิดกับสิ่งที่ถูกคิด ผู้นึกกับสิ่งที่ถูกนึก ผู้พูดกับคนที่รับฟัง ผู้กินกับสิ่งที่ถูกกิน ฯลฯ เมื่อเราทำได้สภาวะทางเดินของเราก็เปิดโล่งอยู่เสมอ การกิน การเดิน การนั่ง การนอน ฯลฯ ที่เราไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลก ก็เป็นเพียงแต่กิริยาอาการเท่านั้น สภาวะโล่งโปร่งเกิดขึ้นแก่เราได้ทุกเมื่อ..

การทำลายสิ่งกีดขวาง อารมณ์รักและชัง (กิเลส) ที่ฝังเป็นรากลึกอยู่ในหัวใจ ผู้ที่กำลังเดินทางอยู่จะเห็นว่า มีสิ่งกีดขวางทางเดินของเรามาก มี 7 อย่างคือ
(1) ความติดใจในกาม (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส )
(2) ความขัดเคืองใจ (ความข้องติดในอารมณ์ที่ผ่านมา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย)
(3) ความยินดีในรูปของการคิด
(4) ความยินดีในรูปของการนึก
(5) ความฟุ้งซ่านของใจ
(6) ความพอกพูนตัวตนของใจ
(7) ความไม่รู้เท่าทันของจิตในอารมณ์ทั้งหลาย
สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า เป็นศัตรูที่คอยกีดขวางทางเดินของเรามาก เพราะสิ่งต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้เขามีมาก่อนแล้วก่อนที่เราจะได้พบหนทาง เราจึงจำเป็นต้องรื้อถอนทิ้งเหมือนดึงไม้ที่ขวางทางเดินของเราออก คือ มีสติ รื้อถอนสิ่งเหล่านี้ออกไป โดยตั้งแนวทางลงบนสิ่งเหล่านี้ไม่สุดโต่งไปข้างรัก หรือ ชัง ให้อยู่ในสภาวะนี้ไปสักระยะหนึ่ง สิ่งกีดขวางเหล่านี้ก็จะหมดไป เป็นความโล่งโปร่ง ตัวอย่างเช่น เรามีความต้องการทางกาม ให้นำทางเดินที่เราได้ให้ไปอยู่กึ่งกลางระหว่างวัสดุกาม กับความรู้สึกทางกาม (ใจ) เมื่อเราทำดังนี้ไปสักระยะหนึ่ง โดยไม่ให้ไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง ความรู้สึกทางกามก็จะถูกทำลายลงทั้ง 2 ข้าง คือ ผู้ทำและผู้ถูกกระทำ จะถูกทำลายลงด้วย ขึ้นชื่อว่ากิเลสโดนประหารแล้ว ในทำนองเดียวกันความขัดเคืองใจ ความยินดีใน รูป - อรูป ฯลฯ ดังที่กล่าวมาแล้วก็ทำในทำนองเดียวกัน คือ ใจเป้นที่สุดโต่งด้านใน สิ่งที่ยึดติดเป็นความสุดโต่งด้านนอก ให้ทางเดินที่เราเคยได้อยู่กลาง อยู่ลักษณะนี้สักระยะหนึ่ง กิเลศทั้งด้านนอกและด้านในจะถูกประหารพร้อมกัน ขอให้เราอยู่กึ่งกลางทางสายกลางให้มั่นอย่าไปสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง กิเลศต้องถูกทำลายอย่างแน่นอน

ก่อนสุดของการเดินทาง เมื่อเจริญสติตามทางสายกลางโดยไม่ไปข้องติดข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อทำชำนาญเข้าบุคคลนั้นจะเข้าถึงการมีสติเว้นรอบ คือ ปรากฏการณ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้น ทางอายตนะทั้ง 6 เขาจะไม่ไปข้องติด จะทำให้บุคคลผู้นั้นขึ้นไปเหนือปรากฏการณ์ต่างๆ โดยธรรมชาติของมันเอง ขึ้นไปเหนือสมมุติและบัญญัติ สภาวะเช่นนี้ความนึกความคิดจะถูกตัดทิ้งไป จะมีความรู้เกิดขึ้นโดยไม่ต้องนึกคิด เป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่มีผู้คิด และสิ่งถูกคิด และไม่มีผู้รู้กับสิ่งถูกรู้ ความรู้ที่ผ่านออกมาจะไม่ผ่านใจและสองหรือสัญญากับเวทนา ซึ่งสภาวะนี้ผู้ปฏิบัติจะทัสสนะรู้เห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามที่เป็นจริงเมื่อต้องการรู้เรื่องใดจะมีแรงสัตติสืบต่อเนื่องเรื่องนั้นเป็นสายๆ เช่น ต้องการรู้เรื่องอดีต อนาคต ของกายว่า เป็นมาอย่างไร จะไปสิ้นสุดเมื่อไร แรงสืบต่อนี้จะสาวไปหาอดีต และสาวไปหาอนาคตเองโดยไม่ต้องใช้ความนึกคิด และความรู้ที่ได้ก็เป็นจริงตามระยะแรงสันตติได้ดำเนินไป และระยะเวลายาวนานเท่าใด ไม่เพียงแต่การรู้เรื่องทางกายอย่างเดียว เราอาจรู้เรื่องอื่นๆ เช่น แรงสืบต่อของจิต แรงสืบต่อของวัตถุ ฯลฯ โดยไม่รู้จบสิ้น

ที่สิ้นสุดของการเดินทาง เมื่อผู้ปฏิบัติทัสสนะจนพอรู้เรื่องว่าอะไรหมดแล้ว จะมองเห็นว่า เป็นเรื่องไม่มีที่สิ้นสุดเพราะสิ่งนี้จึงมี ซึ่งวนไปวนมาไม่รู้ต้นรู้ปลาย จึงเห็นว่าเป็นธรรมดาของสิ่งทุกสิ่งจึงละคลายความเห็นต่างๆ เสีย จึงมองเห็นว่า เพราะมีแรงสืบต่อสันตตินี้สืบต่อให้สิ่งต่างๆ ต่อเนื่องกันเป็นสายๆ แรงอันนี้เกิดจากเพราะมีเหตุและปัจจัยหนุนต่อเนื่องกัน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงละแรงอันนี้เสีย ปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติของเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อเนื่องอยู่บุคคลผู้นั้นก็จะถึงที่สุดของการเดินทางถึงความหลุดพ้นได้โดยสมบูรณ์

คำเตือนสำหรับผู้ที่มีจิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่งแล้ว
1. สภาวะจิตที่หลุดออกไปจากการปรุงแต่งแล้ว ไม่ต้องเที่ยวค้นหาอีกเพราะมันไม่มีแล้ว ถ้ามัวค้นหาก็จะพบแต่ความโปร่ง ความโล่ง ไม่มีอะไร
2. ถ้าเกิดความสงสัยว่า มันหายไปไหน ให้นำเอาความสงสัยนี้ไปสู่แสงสว่างที่เกิดขึ้น แสงสว่างนี้จะทำลายความสงสัยเรื่องนี้หมด
3. สภาวะโปร่งโล่ง และมีแสงสว่างนี้จะเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติทุกคน หลังจากที่จิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่งไปแล้ว
4. คำว่า เข้าถึงธรรม เข้าสู่กระแส เห็นฝั่ง เห็นธรรม มรรค ทางเดิน ตถาตา นิพพาน คือสภาวะเดียวกัน และสิ่งเหล่านี้มีประจำตัวของสัตว์ทุกชนิด แล้วแต่สัตว์เหล่านั้นจะมีความหลงปรุงตัวเองให้ผิดแปลกกันไป มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ที่สามารถรู้ความจริงของคำที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าคนไหนไม่เข้าใจก็จะหาสิ่งเหล่านั้นนอกตัว แต่แท้ที่จริงแล้วมีอยู่ที่ตัวของเขาเอง เป็นเพียงแต่โมหะครอบงำเท่านั้น
5. เนื่องจากผู้ที่มีจิตหลุดจากสภาวะปรุงแต่งแล้ว จะทำให้กิเลสหมดไปแค่ 3 อย่างเท่านั้น คือ 1) ความสงสัย 2) ความยึดติดในสมมุติและบัญญัติ 3) ความยึดถือในเรื่องมีตัวตน เปรียบเสมือนการเดินทางมาแค่ 1/3 ของการเดินทางนั้นๆ เราควรเดินต่อไปอย่างประมาท และอวดความรู้ของตนเองที่ได้เพราะยังมีกิเลสที่นอนเนื่องในสันดานของเราถึง 7 อย่าง
6. ควรดำเนินทางเพื่อไปประหารกิเลสอีก 7 อย่าง คือ ความติดใจในกาม ความขัดเคืองใจ ความยินดีในรูปความคิด ความยินดีในรูปความนึก ความฟุ้งซ่านใจ ความพอกพูนตัวตนของใจ ความรู้ไม่เท่าทันของจิตในอารมณ์ทั้งหลาย เมื่อประหารกิเลส 7 อย่างนี้แล้ว เราถึงจะหลุดพ้นโดยสมบูรณ์ การประหารกิเลสให้ดูการปฏิบัติในการเดินทาง และการทำลายสิ่งกีดขวางในการเดินทาง ดังที่กล่าวมาแล้ว
7. ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่งแล้ว ถ้าไ่ดำเนินทางเพิ่ม เมื่อไประคนต่ออารมณ์ กิเลสไม่รู้จักประหาร จะทำให้สภาวะที่เคยโปร่ง โล่ง หมดไป เป็นสภาพที่มืดๆ ตื้อ ๆ นั่งสมาธิเหมือนมีของหนักๆ ทับ สภาวะเช่นนี้ผู้นั้นจะสงสัยว่าทำไมเป็นเช่นนี้ สภาวะโล่งโปร่งหายไปไหน จะพยายามหาอีกและอาจเหมาไปว่าสิ่งที่ตนได้เรียนมาแล้ว เป็นของปลอมต้องหาเอาอีก เดี๋ยวหาย เดี๋ยวเกิด อันนี้เป็นเพราะตนเองเดินทางไม่เป็น หรือไม่ชำนาญ จะต้องมีสติตั้งแต่เจอผัสสะตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ไปสุดโต่ง 2 ส่วน ทางถึงจะเปิดโล่ง ถ้าสุดโต่งแล้วจะมาแก้ทีหลังเท่ากับปล่อยให้คนพาลเอาโคลนมาทิ้งบ้านเรา แล้วค่อยนำเอาโคลนนั้นไปทิ้งทีหลัง บุคคลผู้ฉลาดควรห้ามคนพาล ระวังไม่ให้เอาโคลนมาทิ้งเสียแต่แรกๆ ดีไม่ดีถ้าไม่ขยันเอาโคลนออก บ้านนั้นอาจจมลงไปในโคลนก็ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาท
8. ผู้มีจิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่งใหม่ๆ ควรอยู่ใกล้อาจารย์ เพราะท่านจะแนะแนวการเดินทาง เมื่อไประคนกับกิเลสก็จะได้แก้ไขได้ ถ้าไปคลำหาเองก็ได้ แต่เป็นการเนิ่นช้ากว่าจะรู้เรื่องแต่ละเรื่อง หรือบางทียอมแพ้กิเลสเอาง่ายๆ
9. สภาวะโล่งโปร่ง ถ้าเรายึดติดเพื่อจะเอาตัวของเราไปอยู่สภาวะนั้นจะเป็นสภาวะที่นิ่ง ในเมื่อเราดำเนินทางไม่ได้เป็นปกติจะเกิดกระแสภวังค์ ทำให้เกิดมีอาการเหมือนง่วง ถูกอะไรมากระชากไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะกิเลสที่นอนเนื่องคลายออกมา ทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกระชาก จะเป็นไปอีกนาน ถ้ามีกิเลสนอนเนื่องมาก ถ้ามีน้อยก็เกิดอาการน้อย
10. เมื่อเรารู้ว่า ตัวของเราไม่โล่งโปร่ง หนักที่ใดที่หนึ่งแสดงว่าเราไปยึดติดในกิเลสแล้วมันเข้ามานอนเนื่องในตัวของเราแล้ว ควรกำหนดจางคลายไป คืออาการไหวที่จิตกระเพื่อมไปหากิเลสนั้น และอาการนิ่งที่จิตไปกระทบกิเลสนั้น และสภาวะหลุดโปร่งในเมื่อถอนออกจากกิเลสแต่ละครั้งนั้น แล้วกำหนดง่ายๆ ว่า ไหว - นิ่ง - หลุด ทำไปเรื่อยๆ จนกิเลสหมดไป สภาวะโล่งโปร่งก็จะคืนสู่สภาพเดิม การกำหนดเท่ากับเวลาของโลก 1 วินาที
11. การที่จะได้ญาณทัสสนะนั้น บุคคลต้องเจริญทางให้มากและสมบูรณ์ก่อน ถึงจะได้ จะไปปราถนาเอาโดยไม่เจริญทางแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้
12. ข้อควรระวังที่สุดคือ อย่าพยายามเอาจิตที่หลุดแล้วบังคับให้ไปคบกับใจอีก เพราะจะทำให้ถูกมายาภาพของใจหลอกเอาอีก มารจะรบกวนเราอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราไม่ละจิตออกจากใจ แล้วอันตรายมาก นรก สวรรค์ ความดี ความชั่ว จะถูกปรุงเป็นนิมิตภาพให้เราเห็นอีก หรือบางทีอาจมีอิทธิฤทธิ์เกิดขึ้นควรละทิ้งให้หมด
13. สภาวะโล่งโปร่งที่เราได้อยู่แล้วนั้น มารมองไม่เห็น ผู้ที่อวดอ้างรู้เห็ตจิตใจผู้อื่นด้วยอำนาจฌาณไม่สามารถมองเห็นจิตของเราได้ นี่แหละที่มารไปไม่ถึง
14. สภาวธรรมที่เราได้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา รู้ด้วยใจ และไม่มีแสงสี สิ่งกำหนดหมายว่าเป็นสิ่งใดได้ ดังนั้น ผู้ที่ถูกถามเกี่ยวกับความจริงเรื่องนี้ เราควรบอกเขาว่า เป็นของรู้ได้เฉพาะตน บอกให้ผู้อื่นไม่ได้ ไม่สามารถบรรยายเป็นภาษาพูดได้ ถึงบอกไปสัจจธรรมจะเลอะเลือนไป ควรแนะนำผู้นั้นให้มาปฏิบัติ
15. การดำเนินทางเพื่อที่จะให้ทางเปิดโล่ง ควรดำเนินดังนี้
1. ความเห็น ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้เห็น และสิ่งถูกเห็น สภาวะทางก็เปิดโล่ง ความเห็นเป็นแค่กิริยาอาการของสิ่งนั้นเป็นกระบวนการเห็น ถ้าใส่เจตนาถึงจะเห็นเป็นเรื่องราว ถ้าไม่ใส่เจตนา จะหมุนวนอยู่ข้างล่าง
2. ความคิด ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้คิดกับสิ่งที่ถูกคิด สภาวะทางก็จะถูกเปิดโล่ง ความคิดเป็นเพียงแต่อาการของสัญญานในสมองเท่านั้น ถ้าใส่เจตนาความคิดจะเป็นเรื่องราวถ้าไม่ใส่เจตนา จะหมุนวนอยู่ข้างล่าง
3. การพูด ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้พูดกับสิ่งที่ถูกพูด สภาวะทางก็จะถูกเปิดโล่ง กระบวนการพูดเป็นเพียงแต่กิริยาอาการของเสียง ถ้าใส่เจตนาก็จะพูดเป็นเรื่องเป็นราวถ้าไม่ใส่เจตนาจะหมุนวนอยู่ข้างล่าง
4. การงาน ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ทำกับสิ่งที่ถูกกระทำ กระบวนการที่ทำงานเป็นเพียงแต่อาการกิริยาเท่านั้นถ้าใส่เจตนางานนั้นจะมีผลออกมาตามที่เราต้องการ ถ้าไม่ใส่เจตนาก็จะเป็นอาการของงานทำซ้ำไปซ้ำมา
5. อาชีพ อาชีพนั้นไม่ไปทำลายสมมุติ และบัญญัติของผู้อื่นและตนเอง
6. ความเพียร การไม่พยายามไปสุดโต่งในการกระทำต่างๆ ตั้งจุดประสงค์ไว้แล้ว ดำเนินไปตามแนวทางจนบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ ไม่มีผู้รับและปฏิเสธจากการกระทำนั้นๆ
7. ความระลึก ไม่มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ล่วงมาแล้ว กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ความนึกก็จะหมุนเป็นเรื่องราวซ้ำไปซ้ำมา
8. ความตั้งใจ การใช้ใจทำงาน ควรใช้เป็นบางครั้งเมื่อหมดเหตุที่จะต้องทำแล้วก็ปล่อยให้ใจเป็นอิสระ อย่าเอาจิตยึดติดในอารมณ์ของใจนั้นๆ
เมื่อบุคคลดำเนินทาง 8 อย่างนี้ในชีวิตประจำวันได้ ทางนั้นจะโล่งเตียนทุกวินาทีที่เกี่ยวข้องกับโลก ทางนี้จะเป็นทางสายกลางอยู่ตลอดเวลา หมดกิจที่จะต้องทำเกี่ยวกับทางเดินถึงความหลุดพ้นโดยสมบูรณ์
16. หลังจากจิตหลุดพ้นแล้วดำเนินตามข้อ 15 ไม่ได้ ให้ดำรงสภาวะโล่งโปร่งไว้ตลอด สภาวะนี้จะไร้เจตนา เวลาระคนกับสิ่งอื่นๆ อย่าใส่เจตนา ถ้าจำเป็นให้ใส่น้อยๆ ถ้าทำดังนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำข้อ 15 ได้

วิธีชำระกิเลศ

กิเลส คือ เครื่องเศร้าหมองของจิต เป็นสภาพที่จิตหลงเข้าไปยึดติดในอารมณ์ของสังขาร คงค้างนอนเนื่องเป็นนิสัยเคยชิน เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าแบ่งออกเป็นชั้น ได้ 3 ชั้นดังนี้
1. ชันหยาบ 2. ชั้นกลาง 3. ชั้นละเอียด

วิธีกำจัดกิเลสชั้นหยาบ
1. ใช้วิธีกดข่ม เช่น เราชอบรสเผ็ด แต่ข่มความชอบนั้นไว้หันไปกินรสที่ไม่เผ็ด หรือเรามีโทสะมาก แต่ข่มโทสะไว้ แล้วแผ่เมตตาให้
2. ใช้วิธีตั้งกติกา เช่น ถือศีล เรานับถือศีล แต่ความต้องการที่จะทำกิจอกุศลยังมีอยู่ ใช้กฏกติกาข่มไว้

วิธีชำระกิเลสชั้นกลาง
1. พิจารณาเห้นโทษภัย จากการที่เราเข้าไปยึดิดในอารมณ์นั้นๆ
2. พิจารณาเห็นกฏพระไตรลักษณ์ ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน
3. พิจารณาปลงสังขาร

วิธีกำจัดกิเลสชั้นละเอียด
วิธีกำจัดกิเลสชั้นนี้ สำหรับผุ้ที่บรรลุถึงกระแสแห่งความหลุดพ้นแล้ว.
1. ขึ้นไปสู่สภาวะจิตหลุดพ้น แล้วมองลงมาดูวงกลมข้างล่าง ว่าตนเองติดอะไร ถ้าติดตรงไหนให้ใช้เจตนาของจิตหมุนวงกลมนั้นให้เร็ว จนกิเลศนั้นร้อน สลายตัวไป
2. ขึ้นไปสู่สภาวะจิตหลุดพ้น จนสงบนิ่ง คลายกิเลสโดยอำนาจของภวังค์ที่จางคลาย
3. ทำดังคำเตือนสำหรับผู้ที่มีจิตหลุดพ้นในเบื้องต้น วิธีกำจัดกิเลสชั้นละเอียด ข้อ 1 - 3 นั้น เป็นการฝืนธรรมชาติกฏแห่งกรรม เพราะใช้เจตนาของจิตเข้าไปร่วมดับเพลิงทุกข์ดับเพลิงทุกข์ได้ แต่ละลายเวลาไม่ได้
4. กิเลสละเอียดที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องในสันดาน
ต้องทำสันตติแรงสืบต่อทำปฏิกิริยากับจิตที่มีกิเลสเป็นอนุสัย ทำเป็นจังหวะๆ เท่ากับเวลาของโลก คือ 1 วินาที ทำไปเรื่อยๆ จนถึงกาละของมันจะหมดไปเอง วิธีนี้จะหมดไปจริง เพราะมีเครื่องหมักดอง (คล้ายเสลด) ออกมาด้วย ตัวหมักดองเป็นตัวกระเพื่อมให้จิตรับเอากิเลสใหม่เข้าไป เหมือนเราถูกหนามทิ่มยังไม่ได้บ่งออก ถ้าเราชำระหมดแล้วก็เหมือนเราบ่งเอาหนามที่ทิ่มอยู่นั้นออกมาได้ ถ้ามีกิเลสมาใหม่มันก็ผ่านมา ผ่านไป เพราะไม่มีเครื่องที่จะให้กระเพื่อมแล้ว เมื่อเครื่องกระเพื่อมหมดสิ้นไปแล้ว เราจะเข้าถึงซึ่งความบริสุทธิ์ มีจิตหลุดพ้นได้ โดยสมบูรณ์ วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องไม่ฝืนธรรมชาติ กฏแห่งกรรม ผุ้ที่แสวงหาซึ่งความหลุดพ้นโดยสมบูรณ์ ต้องใช้วิธีนี้
วิธีชำระกิเลสที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นนั้น ชั้นต้น ชั้นกลางคนธรรมดาสามัญทำได้ แต่ชั้นละเอียด การชำระนั้น บุคคลนั้นจะต้องเข้าสู่กระแสภาวะแห่งความหลุดพ้นแล้วถึงจะทำได้ วิธีชำระ 1 - 3 เป็นการชำระที่ฝืน ธรรมชาติ กฏแห่งกรรม จะหนีอำนาจกฏแห่งกรรมไปไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษา เรื่องสันตติแรงสืบต่อของ กาย เวทนา จิต ธรรม ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จะไปสิ้นสุดแรงนี้ลงเมื่อใด และพร้อมที่จะต้องยอมรับผลของกรรมนั้นๆ จะหนีแรงนี้ไม่พ้นเพราะเราทำเหตุ กายกรรมวจีกรรม มโนกรรมมาแล้วในอดีต ปัจจุบันเป็นผลที่เราได้รับและผลจากที่เรากำลังทำปัจจุบันอยู่ แรงนี้เป็นตัวเชื่อมโยงให้เป็นไปตามกฏแห่งกรรม ดังนั้นเราต้องคามดูสันตตินี้ ทุกเวลาและทุกอิริยาบถ ไม่ประมาท จนคล่องตัว สามารถย้อนหลังแรงนี้สืบสาวไปหาอดีต และไปข้างหน้าถึงอนาคต รู้เหตุ รู้ผลที่เราจะได้รับจากการที่เราได้ทำกรรมไว้แล้ว และยอมรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยไม่มีข้อเงือนไขใดๆ ทั้งสิ้น

ความเข้าใจเกี่ยวกับมรรค


1. บุคคลที่จิตยังไม่หลุดพ้นย่อมไม่รู้ว่ามรรคคืออะไร ถ้าเขาพูดเรื่องมรรคจะเอาความเป็นกลางของใจเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะจิตของเขายังไม่หลุดจากใจยังมีผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้อยู่
2. การที่บุคคลจะเห็นมรรคได้ ต้องไม่ไปส่วนสุดโต่ง 2 ส่วน
3. "สิ่ง" คือมรรคถ้ารู้ว่ามีสิ่งไม่ใช่มรรค
4. เมื่อลุถึงสภาวะมรรคแล้ว อย่าให้มีเวลาไปเกี่ยวข้องกับทางนั้นๆ
5. สภาวะโล่งโปร่งไม่ใช่องค์ของมรรคเป็นผลจากการประหารกิเลส 3 ตัวได้ ถ้าเรายึดผล คุณธรรมของเราก็ไม่ก้าวหน้าจะต้องดำเนินมรรคให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
6. การดำเนินมรรคคือการทำภาวะปกติไม่ไปสุดโต่งส่วนสุด 2 ส่วน เมื่อดำเนินมรรคสูงขึ้นไปเท่าใดกิเลสก็ถูกตัดขาดลงเรื่อยๆ ผลก็ตามมาเรื่อยๆ
7. ผลนั้นเป็นตัวปัญญา ซึ่งจะไปลำลายอวิชชา ดังต่อไปนี้

1 ไม่รู้จักทุกข์
2 ไม่รู้จักเหตุเกิดแห่งทุกข์
3 ไม่รู้จักความดับทุกข์
4 ไม่รู้จักทางถึงความดับทุกข์
( สภาวะจิตหลุดพ้นทำลายอวิชชาเหล่านี้ได้)

5 ไม่รู้จักอดีต
6 ไม่รู้จักอนาคต
7 ไม่รู้จักอดีตเชื่อมโยงอนาคต
8 ไม่รู้จักปฏิจจสมุปนาท
(มรรคทำลายอวิชชาเหล่านี้ได้ เกิดวิชาขึ้นคือ
1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ 2. จุตูปปาตญาณ 3. อาสวักขยญาน )

 

สิ่งที่ต้องทำหลังจากหลุดพ้นแล้ว

1. ชำระกิเลส (ดูหัวข้อวิธีชำระกิเลส)
2. ดูรอบการเกิดของจิตที่หลงเข้าไปยึดติดในสังขาร (ดูในความยึดถือของจิต)
3. เข้าไปสู่สภาวะหลุดพ้นบ่อยๆ เพื่อที่จะได้เกิดปัญยาและหมั่นให้อยู่ได้ทุกระดับ คือ สูงสุด กลาง ละต่ำ

ระดับสูง
คือ ความเป็นเช่นนั้น (สิ่งนั้น) ว่าเกิดขึ้นอย่างไร ปัญญาที่จะได้รับจากการขึ้นไปสู่จากที่นี่
1. สิ่งนั้นเป็นธรรมชาติของโลก ไม่ขึ้นต่อเหตุและปัจจัย สมมุติ และบัญญัติ ไม่มีที่ตั้ง เกิดและดับ
2. จิตที่เข้าถึงสิ่งนั้น ถ้ายึดสิ่งนั้นจะเป็นหนึ่งทันที อาการนิ่งก็ปรากฏเมื่อเกิดอาการนิ่งขึ้น อาการไหวก็ปรากฏเพราะมีตัวรับแรงดึงดูดของโลกแล้ว จิตก็จะหลงอาการ ไหว - นิ่ง อีกว่ามาจากอะไร ดังนั้นเราจึงไม่ไปสุดโต่งข้างไหวและนิ่ง ทางก็สมบูรณ์
3. ถ้าเราจะดำเนินทางให้โล่งโปร่ง อย่ายึดอาการโล่งโปร่ง เพราะมีตัวเข้าไปเสพโล่งโปร่งอีก ของคู่ก็จะเกิดขึ้น คือความโล่งโปร่งและความมืดตื้อ จะเกิดขึ้นวนไปวนมา จิตอย่าไปสุดโต่ง 2 ข้าง ทางก็สมบูรณ์ "เป็นสภาวะปกติ" สามารถละลายกิเลสทั้งคู่ได้ นักปฏิบัติควรระวังให้มากอย่าให้เวลาเข้าแทรกไปในทางนั้นๆ จะมีจุดเปรียบเทียบขึ้นทันที ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นทางก็ไม่สมบูรณ์

ระดังกลาง

คือ ระดับจิตเป็นปัจจุบันขณะปกติ เป็นสัมมาปฏิบัติ ปัญญาที่จะได้จากการอยู่ระดับนี้คือ
1. เห็นอาการรวนเกิดของอายตนะภายนอก สัมพันธ์กับอายตนะภายในวนไปวนมาเป็นรอบๆ
2. อาการวนนี้ ถ้าจิตดูนานๆ ไม่เกี่ยวข้อง จะเห็นเป็นแรงสืบต่อ (สันตติ) ต่อเนื่องกันเป็นสาย
3. จะไม่หลงยึดตัวตน เพราะเห็นแล้วว่า ตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุและปัจจัย วนหมุนกันเป็นรอบๆ
4. จะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์และสิ่งแวดล้อม สมมติบัญญัติของโลกได้ทุกอย่าง แต่ไม่ยึดติด ถ้ายึดิดข้างใดข้างหนึ่งจะทำให้จิตเป็นจุด เกิดทุกข์ขึ้นทันที
5. จะรู้ว่าโทษของการใส่เจตนาของจิตลงทางกาย วาจา ใจ ทำให้เกิดผลสะท้อนคือเกิดแรงสืบต่อขึ้น และตนเองต้องรับวิบากจากแรงย้อนนั้นๆ (กรรม)
6. จะทำให้ทางเดินของจิตโล่งโปร่งตลอดเวลาเป็นปัจจุบันขณะ เป็นสภาวะที่กเลสและตัณหาไม่มาห่อหุ้มจิตได้
7. เป็นทางเดินที่ถูกต้องในการปฏิบัติให้ถึงจุดหมายที่แท้จริง
8. จะมีสติเห็นอาการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยถึงขันธ์ทั้ง 5 จะดับก็ไม่เสียดาย เพราะสภาวะที่ตนเองดำรงค์อยู่นั้นเป็นสภาวะที่สิ้นของทุกข์แล้ว

ระดับต่ำ
คือจิตลงไปรับความสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งเพื่อรับวิบากของกรรมที่สร้างเหตุมาแล้ว ในขั้นนี้จะเกิดปัญญาดังนี้
1. สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกฏแห่งกรรม เราสร้างเหตุไว้แล้วต้องได้รับผล จะหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. รู้วิบากว่าตนเองสร้งกรรมอันใดไว้
3. รู้สาวถึงเหตุในอดีต โดยจะใช้แรงสันตติ (สืบต่อ) ต่อเนื่อง เหตุจากปัจจุบันย้อนหาอดีตได้หลายชาติ แล้วแต่เราจะขยันสาวเข้าไปถึงไหน ถ้ามีเวลาจะสาว ร้อยชาติ พันชาติ ไม่มีสิ้นสุด
4. รู้สาวถึงอนาคต คือเอาปัจจุบันที่ตนเองเป็นเหตุ ใช้สันตติสืบต่อลมเข้ามาผ่านใจ จะเห็นว่าตัวเราเองในอนาคตจะเป็นอย่างไร ตายเมื่อไร วันที่ เวลา เท่าไหร่ แล้วแต่เราจะขยันดูให้ละเอียด และสามารถสาวถึงเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย
5. เมื่อเราดำรงอยู่ปัจจุบันไม่สาวอดีต อนาคต จะเห็นการหมุนรอบของสิ่งต่างๆ จากหยาบไปละเอียด จากละเอียดไปหาหยาบ เช่น เห็นกายเรานี้กำเนิดมาจากแสงสว่าง เมื่อจิตเราเข้าไปยึดแสงสว่าง ตัวตน ความเป็นหนึ่งจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อความเป็นหนึ่งเกิดขึ้น ก็จะมีแรงกระทุ้งความเป็นหนึ่งทำให้เกิดพลังความร้อน (พลังความเกิด) เมื่อเกิดพลังความเกิดขึ้น พลังความดับก็เกิดขึ้น เมื่อพลังความดับหมดไป พลังความบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้น เมื่อพลังความบริสุทธิ์หมดไป พลังความว่างก็เกิดขึ้น เมื่อความว่างหมดไป ความสว่างก็เกิดขึ้นแล้วก็วนกลับมาที่เก่าอีกไม่รู้จบสิ้น ในทำนองเดียวกัน จะรู้เรื่องอื่นอีกมาก ซึ่งความรู้ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ต้องผ่านความนึกคิด เป็นเรื่องสืบต่อของ กาละ เวลา กรรม เจตนา แรง พลังงาน ตัณหา กิเลส วิบาก ซึ่งเราจะรู้หมดว่า พระอภิธรรมในศาสนาพุทธนั้นเป็นสิ่งละเอียดสุขุมมาก เราจะยกย่องพระพุทธองค์หาใครมาสอนเหมือนไม่ได้ เมื่อเรารู้จักถึงตอนนี้ จะเห็นทิฐิของอาจารย์สอนกรรมฐานต่างๆ ว่า ผิดแนวทางอย่างไร และจะยกย่องพระอภิธรรมเป็นยอด เป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติในทางศาสนาพุทธ

วิธีกั้นบังอารมณ์จากผู้อื่น


คนที่หลุดพ้นใหม่ๆ สภาวะอารมณ์จะโล่งโปร่งเหมือนกับภาชนะที่ว่างเปล่า ถ้ามีอารมณ์จากผู้อื่นเข้ามากระทบ จะรับได้ทันที มันจะแทรกเข้าทางจมูก ลมหายใจ ใจ และตามประสาทสัมผัสต่างๆ ยิ่งถ้าได้เข้าไปใกล้ผู้ปฏิบัติที่กำลังหมุนหาแรงเหวี่ยงอยู่ ธรรมารมณ์ที่คลายออกจากเขา จะเข้าตัวเราทันที เราควรแก้ไขดังต่อไปนี้
1. อย่าเข้าไปอยู่ในสภาวะหลุดพ้น เพราะสภาวะนั้นเป็นการละออกจากขันธ์ ธรรมารมณ์ผู้อื่นจะเข้าไปแทนที่ในกายของเรา ต่อเมื่อเราออกจากสภาวะหลุดพ้นเข้าสู่สภาวะเดิมแล้วจึงจะรู้สึกว่า เราได้รับธรรมารมณ์ของผู้อื่นไปแล้ว
2. ปล่อยธรรมารมณ์ของผู้อื่น ผ่านเข้ามาหาเรา โดยไม่ต้องกั้นบัง ตามธรรมชาติธรรมารมณ์จะผ่านเราไป แล้วย้อนกลับคืนไปสู่เข้าของเดิมวนกลับไปกลับมาเป็นรอบๆ อย่าให้มีความแตกต่างระหว่างเรากับเขา ธรรมมารมณ์ก็จะผ่านมาผ่านไปวนไปวนมาเป็นรอบๆ แต่ถ้าเราเผลอคิดไปที่อื่น ไม่ดูอาการหมุนวน ธรรมารมณ์นั้นก็จะติดค้างในตัวเราทันที สภาวะนี้เป็นมรรคของธรรมารมณ์ คือไม่ไปสุดโต่งระหว่างเรากับเขา มรรคนั้นจะอยู่เหนือธรรมารมณ์ที่หมุนอยู่ข้างล่าง เมื่อเราดำรงองค์มรรคจะเห็นอาการหมุนวนข้างล่างชัดมาก ถ้าได้สภาวะนี้แล้ว ธรรมารมณ์ของผู้อื่นก็จะไม่มาเกาะติด ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่หลุดพ้นแล้วก็ทำเช่นเดียวกัน การพูดคุยกับผู้อื่นอย่าใส่อารมณ์ เพราะจะทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างเรากับเขา ไม่เช่นนั้นธรรมารมณ์ของเขาจะเข้าตัวเราทันที ในเมื่อไม่มีความแตกต่างระหว่างอารมณ์ของเขาก็ของเราแล้ว ก็ให้หมุนวนสลับกันไปมา ธรรมารมณ์นั้นจะไม่เกาะติดเรา แต่ทว่าถ้าเราเอาจิตไปยึดติดว่า เป็นเราเป็นเขาแม้เพียงนิดหนึ่งธรรมารมณ์ก็จะเกาติดเราทันที เมื่อมีธรรมารมณ์ติดค้างอยู่ก็ให้ทำดังข้อ 10 (เรื่องคำเตือนสำหรับผู้มีจิตหลุดพ้น) จนกระทั่งเข้าสูภาวะโล่งโปร่ง เมื่อมีธรรมารมณ์เข้ามากระทบอีก ก็ให้ทำเหมือนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

วิธีกั้นบังความคิดจากผู้อื่น

ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว เมื่อมีความรู้สึกหนักสมอง แสดงว่าเรามีความคิดของเราเอง หรือถูกความคิดของผู้อื่นแทรกเข้ามาในสมองของเราแล้ว อันนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเราเจริญองค์มรรคไม่ได้ หรือไม่สมบูรณ์ เราไม่ควรให้ความแตกต่างระหว่างเราคิดกับเขาคิด ปล่อยความคิดของผู้อื่นให้ผ่านเข้าไปในสมองของเราให้เต็มที่ โดยธรรมชาติความคิดนั้นก็จะย้อนกลับไปที่ตัวเจ้าของเดิม แล้วหมุนวนกลับมาใหม่ ทั้งนี้ เราจะต้องไม่ไปยึดติดว่าเป็นข้างเขาหรือข้างเรา แล้วจิตของเราจะอยู่ให้สภาวะมรรค เห็นความคิดของเขาและของเรา หมุนวนอยู่ข้างล่างสภาวะมรรคจะเหนืออยู่ข้างบน ในกรณีของตัวเราเองเมื่อเกิดความคิดความนึกขึ้นมา เราจะสังเกตเห็นการหมุนอยู่ 2 ส่วนสมองและใจแล้วจะเห็นความคิดในสมองกับตัวรู้ที่ใจ หมุนสัมพันธ์กันโดยมีจิตอยู่กึ่งกลาง ถ้าบุคคลนั้นเคยเข้าถึงสภาวะหลุดพ้นแล้ว จิตจะเด้งขึ้นอยู่เหนือการหมุนระหว่างความคิดกับความนึก ทำให้องค์มรรคสมบูรณ์ ทั้งนี้ไม่ให้มีความแตกต่างระหว่างความคิดกับนึก ถ้าเกิดความแตกต่างขึ้นแม้เพียงนิดเดียวก็จะทำให้ความคิดของเขาหรือของเราติดค้างอยู่ในสมองทันทีในกรณีที่มีความนึกติดค้างอยู่ เราต้องกำหนด ไหว นิ่ง - หลุด (ดูข้อ 10 คำเตือนผู้มีจิตหลุดพ้น)
วิธีกั้นบังอารมณ์หรือกั้นบังความคิด ดังที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า เรากั้นบังไม่ได้ ทั้งพี้เพราะยังมีเหตุปัจจัยหนุนต่อเนื่องกันอยู่ แต่ทว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งเหล่านั้นติดค้างเราได้ โดยการทำมรรคไม่ให้ไปสุดโต่ง 2 ส่วน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราจะได้ประโยชน์จาก (การรู้) ในเรื่องนี้ก็คือเราสามารถรู้อารมณ์ของผู้อื่นว่า เขากักหรือกดข่มอารมณ์อะไรไว้บ้าง และขามีอารมณ์อะไรร่วมกับเราบ้าง หรือเขากำลังคิด อะไรอยู่ และเขามีความคิดกับเราอย่างไร ถ้าเราปฏิบัติจนเริ่มเห็นมรรคอยู่เหนือการหมุนใหม่ๆ จะเห็นการหมุนเกิดขึ้นหลายที่ สับสนไปมา ซ้าย - ขวา - บน - ล่าง แต่พอนานๆ เข้า เราจะรู้ที่มาของความคิด ความนึกของผู้อื่น
จากการเห็นอาการหมุนวน ทำให้สามารถนำเอาจักรมาใช้หมุนฟังกิเลสได้ เช่นเมื่อมีภาพนิมิตก็เกิดขึ้นได้ ก็ใช้จักรที่ได้หมุนฟันออกไป และก็ทำอย่างเดียวกันเมื่อมีความคิดเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติจะเห็นด้วยตนเองว่า จักรนั้นมีลักษณะเช่นไร ซึ่งเมื่อได้มาแล้ว เราสามารถห้ำหั่นหมู่มารที่มาผจญได้ทุกรูปแบบ