ประวัติความเป็นมาของอินเตอร์เน็ต

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1962 มีบันทึกที่เขียนโดย I.C.R. Licklider แห่ง MIT โดยบันทึกนี้ได้กล่าวถึงการอภิปรายแนวความคิดในเรื่อง เครือข่ายกาแล็กติก (Galactic Network) จากแนวความคิดบางอย่างแสดงให้เห็นถึงการพูดคุยกัน และอภิปรายในเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและโปรแกรมได้เท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก แนวคิดดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกับอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 Licklider ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนา DARPA โครงการ DARPA ได้รับการร่วมพัฒนาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครือข่ายหลายคน เช่น Ivan Suttherland, Bob Taylor และนักวิจัยที่ MIT อีกหลายคน เช่น Lawrence G. Roberts
หากจะย้อนไปในเรื่องแนวคิดของการสื่อสารบนเครือข่ายแบบแพคเกจ Leonard Kleinrock แห่ง MIT ก็ได้ตีพิมพ์บทความในเรื่องการสื่อสารข้อมูลเป็นแบบแพคเกจ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1961 และหลังจากนั้นต่อมาในปี ค.ศ. 1964 ก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลเป็นแพคเกจเล่มแรก Kleinrock ได้โน้มน้าวให้ Robert ใช้หลักการสื่อสารข้อมูลแบบแพคเกจในโครงการ DARPA ซึ่งความคิดในขณะนั้นส่วนใหญ่เน้นไปในการสื่อสารแบบ circuit จนกระทั่งในปี 1965 การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ TX-2 ที่รัฐแมสซาซูเซสกับเครื่อง Q-32 ที่รัฐแคลิฟอร์เนียก็เกิดขึ้น การเชื่อมโยงในครั้งนั้นใช้สายโทรศัพท์ โดยการหมุนหมายเลขเชื่อมโยงและใช้ความเร็วต่ำ และนับว่าเป็นการเริ่มต้นเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบระยะไกล ผลการทดลองในขณะนั้นพิสูจน์ได้ว่า การทำงานแบบแบ่งเวลา (time sharing) ระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กระทำได้ดีผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แต่ขีดจำกัดในเรื่องสายโทรศัพท์เป็นเรื่องที่ทำให้ความเร็วในการรับส่งกระทำได้ต่ำ แต่การส่งแบบแพคเกจก็มีความเป็นไปได้
ในปลายปี 1966 Robert ได้กลับมายังโครงการ DARPA ทำการพัฒนาแนวคิดของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และสร้างแผนการที่ชื่อ ARPANET โดยนำเสนอในปี ค.ศ. 1967 และนำเสนอในที่ประชุมวิชาการโดยเน้นแนวคิดการสื่อสารแบบแพคเกจเป็นหลัก
ขณะเดียวกันนั้นที่ประเทศอังกฤษก็มีการนำเสนอเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเพคเกจในงานประชุมวิชาการเช่นกัน โดย Donald Davies และ Roger ScanHebury การนำเสนอนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1964 การนำเสนอในเรื่องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในช่วงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นผลทำให้โครงการ ARPANET นำเอาหลักการเครือข่ายแบบแพคเกจไปใช้ โดยได้ออกแบบบนพื้นฐานความเร็วของการสื่อสารที่ 2.4-50 Kbps
ในปี 1968 โครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนและให้ชื่อว่า DARPA ก็เปลี่ยนโครงสร้างมาเป็น ARPANET ความคิดในขณะนั้นเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้น โครงสร้างการสวิตช์แพคเกจใช้ชื่อเรียกว่า IMP-Interface Message Processor
การออกแบบและสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีการรับส่งข้อมูลแพคเกจมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีการกำหนดทีมออกแบบและแบ่งแยกกันออกแบบโดยเน้นทางด้านสถาปัตยกรรม การกำหนดโปรโตคอล การวางโทโปโลยี การดูทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้การทำงานมีความก้าวหน้า ยังมีการออกแบบวิธีการวัดประสิทธิภาพเครือข่ายที่ UCLA
จากแนวคิดของ Kleinrock ที่เริ่มด้วยการสวิตช์แพคเกจ การออกแบบเน้นการวัดและการวิเคราะห์ จึงมีการกำหนดให้ UCLA เป็นโหนดหนึ่งของ IMP จนกระทั่งปลายปี ค.ศ. 1969 เครือข่ายคอมพิวเตอร์นี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์หลักอยู่ 4 เครื่อง และถือว่าเป็นเครือข่าย ARPANET ที่เป็นจุดเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ตในเวลาต่อมา
ในปีต่อๆ มา มีการเพิ่มคอมพิวเตอร์เข้าไปในเครือข่าย ARPANET มากขึ้นเรื่อยๆ การทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาโปรโตคอลเชื่อมโยงระหว่างเครื่องกับเครื่อง และซอฟต์แวร์อื่นๆ ประกอบ
ปี 1970 คณะทำงานเครือข่าย (Network Working Group) ทำงานภายใต้การดูแลของ S. Crocher ได้พัฒนา Host to Host Protocol สำเร็จ และเรียกชื่อนี้ว่า NCP-Network Control Protocol
ในปี 1971-1972 เครือข่าย ARPANET ได้รับการประยุกต์ด้วยโปรโตคอล NCP มีการพัฒนาประยุกต์โปรแกรมเฉพาะเข้าไปในระบบ
ในเดือนตุลาคม 1972 Kahn ได้ดำเนินการสาธิตเครือข่าย ARPANET ในการประชุมวิชาการนานาชาติ โดยเน้นให้เห็นการประยุกต์ใช้ที่สำคัญคือ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จากจุดนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ต่อมา
จากจุดเริ่มต้นของ ARPANET เติบโตมาเป็นอินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ตมีพื้นฐานความคิดจากการสร้างเครือข่ายย่อยหลายๆ เครือข่ายในลักษณะที่อิสระจากกันและเชื่อมการทำงานร่วมกันได้ ผู้ออกแบบจึงต้องเน้นการสร้างเครือข่ายในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเปิด และใช้เครือข่ายแบบสวิตชิง โดยมีการรับส่งแพคเกจ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตจึงต้องแยกออกจากระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายที่มีการพัฒนารองรับมากมาย เช่น เทคโนโลยี LAN เทคโนโลยี WAN การใช้ดาวเทียม การใช้วิทยุ การเชื่อมโยงเครือข่ายมีลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบ Internetworking
ด้วยวิธีการของระบบเปิด ทำให้เครือข่ายย่อยแต่ละเครือข่ายได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นอย่างอิสระ การเชื่อมโยงภายในเครือข่ายเป็นไปตามมาตรฐานเฉพาะของเครือข่ายนั้น การเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายจึงมีการกำหนดมาตรฐานกลางที่ทำให้ไม่ขึ้นกับเครือข่ายย่อยๆ นั้นๆ
Kahn ได้เสนอแนวคิดในการสร้างระบบเปิด เพื่อเชื่อมโยงต่อเครือข่ายที่เขาได้รับมาจากโครงการ DARPA ในปี 1972 งานส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสนอแนวคิดในเรื่อง แพคเกจที่ส่งทางคลื่นวิทยุ โดยเน้นให้ความสำคัญที่ผู้รับและผู้ส่งจะต้องสื่อสารกันได้ แม้ว่าจะผ่านเครือข่ายมาอย่างไรก็ตาม การสื่อสารระหว่างปลายทางทั้งสองข้างที่เรียกว่า end to end จึงเป็นรูปแบบที่ Kahn เสนอโดยให้ผู้ใช้ที่อยู่ปลายสองข้างสามารถเชื่อมโยงกันโดยไม่ขึ้นกับโปรแกรมโอเอสหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งในขณะนั้นเรียกโปรโตคอลนี้ว่า NCP-Network Control Protocol
อย่างไรก็ดี NCP ในยุคแรกก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ยังไม่สามารถกำหนดแอดเดรสของเครือข่ายหรือคอมพิวเตอร์ เป็นเพียงการสร้างเส้นทางเชื่อมโยง IMP ในเครือข่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนา NCP ให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับการใช้งานเครือข่ายขนาดใหญ่
ดังนั้น Kahn จึงได้พัฒนาโปรโตคอลใหม่ เพื่อตอบสนองแนวคิดของสถาปัตยกรรมเชื่อมโยงแบบเปิด และต่อมาเรียกโปรโตคอลใหม่นี้ว่า Transmission Control Protocol/Internet Protocol หรือรู้จักกันในนาม TCP/IP โดยเมื่อพิจารณาที่ NCP NCP มีโครงสร้างเป็นเพียงส่วนย่อยที่ใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ แต่ TCP/IP มีคุณสมบัติในการเป็นโปรโตคอลสื่อสารได้มากกว่า แนวคิดในการสร้าง TCP/IP ของ Kahn อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่สำคัญ 4 ข้อ คือ

      1. เครือข่ายย่อยแต่ละเครือข่ายจะต้องอยู่บนพื้นฐานของตัวเอง ที่ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือรายละเอียดภายใน การพัฒนาของเครือข่ายย่อยเป็นไปอย่างอิสระ
      2. การสื่อสารข้อมูลต้องอยู่ในขอบเขตของการบริการที่ดีที่สุดได้ โดยหากข้อมูลที่รับส่งไปไม่ถึงผู้รับ จะมีการส่งซ้ำใหม่จากแหล่งต้นกำเนิด
      3. การเชื่อมโยงเครือข่ายมีลักษณะเป็นการเชื่อมโยงโดยมีเกตเวย์และเราเตอร์เป็นตัวเชื่อมโยง ข้อมูลที่เป็นแพคเกจจึงเดินทางเสมือนผ่านไปยังเกตเวย์และเราเตอร์ ซึ่งจะมีการรับส่งอย่างอัตโนมัติ โดยการรับส่งเสมือนเป็นกล่องดำที่ส่งต่อๆ ไป
      4. ในการดำเนินการระดับเครือข่ายของทั่วโลก จะต้องไม่มีผู้ดำเนินการ การทำงานทั้งระบบเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องมีใครเป็นผู้จัดการ

โปรโตคอลที่ออกแบบยังต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญอีกหลายประการ เพื่อให้ได้โปรโตคอลที่ตอบสนองตามแนวคิดอุดมคติที่เป็นเครือข่ายระดับโลกได้ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึง

ต่อมาปี 1973 Vint Cerf ได้ทำการออกแบบรายละเอียดของโปรโตคอล ซึ่งก็มีรากฐานมาจาก NCP โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้เชื่อมโยงในการประยุกต์ใช้บนโอเอสอื่นๆ ได้ เขาได้ขยายรายละเอียดต่างๆ ซึ่งต่อมากลายเป็น TCP/IP
เพื่อให้ TCP/IP ออกมาเป็นเวอร์ชันแรก จึงได้มีการก่อตั้ง INWG-International Network Working Group โดยได้จัดประชุมสัมมนาที่มหาวิทยาลัย Sussex เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 1973และ Cerf ได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นประธานกลุ่ม
จากการเริ่มต้นของ INWG ทำให้เกิดการรวมความคิดที่เกิดขึ้นจากกลุ่มของ Kahn และ Cerf เข้าด้วยกัน โดยมีลักษณะสำคัญคือ

จากบทความของ Cerf/Kahn ที่อยู่ในคณะทำงานนี้ ได้เน้นให้เห็นการออกแบบแพคเกจ TCP ที่วางอยู่ใน IP แพคเกจ การใช้โปรโตคอล TCP ทำให้การดำเนินการในลักษณะที่เรียกว่าดาต้า แกรมมีลักษณะการทำงานชัดเจน กล่าวคือ การส่งแพคเกจไปในเครือข่ายเสมือนการส่งซองจดหมายในตู้ไปรษณีย์ จากนั้นตัวส่งไม่ต้องสนใจอะไร โดยเชื่อว่าแพคเกจนั้นจะถึงผู้รับ และเมื่อผู้รับได้รับการประยุกต์อาจให้ตอบรับ ซึ่งก็ได้รู้ว่าได้รับแพคเกจแล้ว
การประยุกต์ TCP ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในลักษณะวงจรเสมือนหรือที่เรียกว่า Virtual Circuit การรับส่งข้อมูลภายในวงจรเสมือน ทำให้สามารถสร้างวงจรเสมือนในเครือข่ายได้มาก และแม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์เดียวกันก็สร้างวงจรเทียมได้หลายวงจร
ต่อมามีการประยุกต์ใช้งานในลักษณะที่ไม่ต้องการใช้ TCP ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้รองรับความต้องการได้ โดยการสร้างโปรโตคอลใหม่ชื่อ UDP-User Datagram Protocol
การปรับปรุงโครงสร้าง IP ได้พัฒนาต่อเนื่องมา โดยเน้นเพื่อให้รองรับการประยุกต์ใช้งานที่กว้างขวางยิ่งขึ้น การพัฒนาการประยุกต์ได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
จากที่ทราบแล้วว่า DARPA เป็นการกำหนดงานวิจัยโดยได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ DARPA ได้ทำสัญญาเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ โดยแยกกันทำเพื่อสร้างระบบเครือข่ายด้วย TCP/IP 3 กลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย Cerf ซึ่งเป็นกลุ่มของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด Ray Tomlinson จาก BBN และ Perter Kirstein จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย จุดประสงค์คือต้องการสร้างระบบ TCP ที่สามารถร่วมกันได้
การทดลองและพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ณ จุดนี้จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไกล เริ่มจากเครือข่ายที่ชื่อ ARPANET มีการทดลองใช้แพคเกจเรดิโอ และแพคเกจดาวเทียม การค้นคว้าวิจัยเป็นไปอย่างกว้างขวาง
จวบจนเข้าปี ค.ศ. 1976 ช่วงเวลานั้นพีซีเริ่มเป็นที่รู้จัก ถึงแม้ว่าพีซีจะเป็นเครื่องขนาด 8 บิต แต่ก็มีการนำมาใช้เชื่อมต่อเข้ากับระบบสื่อสาร ในปีนี้ Kleinrock ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ the first book on the ARPANET เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับโปรโตคอล ซึ่งให้รายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทำให้มีผู้รู้จักกับ TCP/IP มาก จนก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้งานในยุคต่อๆ มา
การแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของระบบแลนและพีซี เป็นผลทำให้อินเตอร์เน็ตมีแววประกายขึ้น อีเทอร์เนทได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1973 โดยบริษัท Xerox วิศวกรของบริษัท Xerox ชื่อ Bob Metcalfe เป็นหัวหน้าทีมในการพัฒนาเครือข่ายโดยใช้รูปแบบการส่งในบัส การสร้างเครือข่ายอีเทอร์เน็ตแบบแลนทำให้แนวทางการพัฒนา TCP/IP มีผลเป็นรูปธรรม การแบ่งเครือข่ายTCP/IPออกเป็นคลาส A, B, C โดยเน้นตามสภาพของเครือข่าย เช่นเครือข่ายแลนแบบอีเทอร์เน็ตก็กำหนดเป็นคลาส C และเมื่อรวมกับเครือข่ายแลนหลายๆ เครือข่ายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ก็เรียกว่าคลาส B และถ้ารวมกันเป็นเครือข่ายระดับชาติก็เรียกว่าคลาส A
และเพื่อให้เครือข่ายกระจายเพิ่มขึ้น และใช้งานได้ง่าย โดยเฉพาะการอ้างอิงตัวเลขหมายเลข IP มีความยุ่งยากในการจดจำ หมายเลข IP จึงมีไว้สำหรับให้เครื่องใช้ แต่เมื่อให้บุคคลใช้จึงเรียกกันเป็นตัวอักขระจะสะดวกกว่า เช่น เรียก pe.kmitnb.ac.th จะสะดวกกว่าการเรียก 202.44.38.108 ดังนั้นจึงต้องมีการใช้ฐานข้อมูลด้วยการกำหนดชื่อและ IP
Paul Mockapetris ได้สร้างระบบที่เรียกว่า DNS-Domain Name System ระบบนี้เป็นระบบฐานข้อมูลกระจาย โดยวางลำดับชั้นเพื่อให้มีการขยายระบบ DNS โดยแยกการดูแลและการบริหารแบบกระจาย การขยาย DNS มีระบบการเชื่อมโยงต่อกันได้
เมื่อเครือข่ายมีการเชื่อมโยงกัน ขยายใหญ่ขึ้น ความท้าทายในเรื่องของการสร้างอุปกรณ์ router ที่ต้องพัฒนาให้มีความชาญฉลาด เพื่อกำหนดเส้นทางที่ดีขึ้น การที่มีเครือข่ายจำนวนมาก จึงมีวิธีการกำหนดการหาเส้นทางเป็นเครือข่าย ผู้พัฒนาอินเตอร์เน็ตจึงพัฒนาโปรโตคอลที่กำหนดพื้นที่การทำงานของอินเตอร์เน็ตพื้นที่หนึ่งว่า IGP-Interior Gateway Protocol และเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่เข้าด้วยกันเรียกว่า EGP-Exterior Gateway Protocol การขยายขอบเขตการทำงานจึงเป็นวิธีการทำให้การทำงานระบบขนาดใหญ่เป็นระบบที่ดีมีประสิทธิภาพ
ยูนิกซ์เป็นโปรแกรมระบบปฏิบัติการที่มีการพัฒนามาในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่อยู่บนโฮสต์ในโครงการ DARPA ก็ทำอยู่บนยูนิกซ์ พัฒนาการระบบยูนิกซ์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย Berkeley จึงได้นำเอาระบบ TCP/IP ไว้ด้วย ตัวโปรแกรมยูนิกซ์ โดยเฉพาะ UNIX BSP มีส่วนของ TCP/IP เข้ามาประกอบด้วย และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบ TCP/IP แพร่ขยายได้มาก
ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1983 เป็นจุดของเวลาที่สำคัญ เพราะโครงการ ARPANET ได้เปลี่ยนโปรโตคอลเดิมจาก NCP มาเป็น TCP/IP การเปลี่ยนแปลงสภาพการประยุกต์ใช้ TCP/IP ย่อมต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องต่อไป และในที่สุดก็ได้รับการนำมาเป็นมาตรฐานทางทหารของอเมริกัน กระทรวงกลาโหมอเมริกันยอมรับจากคณะกรรมการโครงการให้ TCP/IP เป็นโปรโตคอลหลักที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ปี 1983 จึงถือว่าเป็นปีเริ่มต้นที่กระทรวงกลาโหมนำมาใช้ต่อไป และใช้ชื่อเครือข่ายที่ใช้งานจริงของกระทรวงกลาโหมว่า MILNET ส่วน ARPANET ยังคงมีและใช้ในการศึกษาวิจัยต่อไป
ปี ค.ศ. 1985 การขยายตัวของเครือข่าย TCP/IP ได้กว้างขวางขึ้น เป็นจุดที่ถือได้ว่าอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มีการใช้งานด้านต่างๆ เช่นอีเมล์ (e-mail) เป็นต้น
ในช่วงเวลาของการพัฒนา DARPA และ ARPANET ที่อยู่ในการสนับสนุนของ DOD-Department of Defense อยู่นั้น ก็มีหน่วยงานหรือองค์กรอื่นได้พัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์อยู่เช่นกัน
ช่วงกลางศตวรรษ 1970 เครือข่ายคอมพิวเตอร์เริ่มเป็นที่สนใจของหน่วยงานบางหน่วยงาน หลายหน่วยงานเป็นองค์กรของรัฐบาลอเมริกันได้ลงทุนพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของตนเอง โดยจุดมุ่งหมายหลักเพื่อใช้ทรัพยากรและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน หน่วยงานที่พัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาวิจัยได้แก่
DOE-Department of Energy ได้สร้างเครือข่ายที่ชื่อ MFENet เพื่อใช้ในการศึกษาเรื่อง Magnetic Fusion Energy กลุ่มนักฟิสิกส์ที่ศึกษาทางด้านพลังงานก็ได้สร้างเครือข่ายชื่อ HEPNet-High Energy Physics
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่องค์การนาซ่า ก็พัฒนาเครือข่ายที่ชื่อว่า CSNET
กลุ่มการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจาก NSF-National Science Foundation และบริษัท AT&T ได้พัฒนาระบบ USENET ซึ่งต่อมาเป็นระบบ news ที่ใช้บนอินเตอร์เน็ตที่แพร่หลายไปทั่วโลก ระบบ USENET ในยุคแรกใช้ระบบยูนิกซ์ที่มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารกันด้วยระบบ UUCP
ปี ค.ศ. 1981 Ira Fuchs และ Greydon Freeman ได้เสนอการเชื่อมโยงเมนเฟรมคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน และใช้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งให้ชื่อว่า BITNET
กล่าวได้ว่า USENET และ BITNET เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในยุคต้นที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ ARPANET
การพัฒนาเทคโนโลยีมีได้อยู่เฉพาะรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น บริษัทชั้นนำทางคอมพิวเตอร์ในยุดนั้นก็พัฒนาเทคโนโลยีเช่นกัน ตัวอย่างเครือข่ายและมาตรฐานที่บริษัทต่างๆ ผลิต เช่น บริษัทไอบีเอ็มพัฒนาเครือข่ายชื่อ SNA บริษัทดิจิตอลอีควิปเมนต์พัฒนาตามมาตรฐานของตนเรียกว่า DECNet บริษัทซีร็อก ก็พัฒนาเครือข่ายชื่อ XNS
จุดสำคัญที่ถือว่าเป็นจุดกล่าวอ้างได้อีกจุดหนึ่งคือ NSF เป็นองค์กรมูลนิธิเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ ได้สนับสนุนให้เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการศึกษาโดยใช้มาตรฐาน TCP/IP ในปี 1985 จุดนี้เองเป็นจุดที่ถือว่าเริ่มเข้ายุคอินเตอร์เน็ตเต็มรูปแบบ
NSF ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยต่อจาก DARPA จึงทำให้ ARPANET เปลี่ยนชื่อมาเป็นอินเตอร์เน็ต มีการตั้งองค์กรรับรองชื่อ IAB-Internet Activities Board
NSF สนับสนุนการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยโดยใช้ TCP/IP เป็นแกนหลักของ NSFNET ซึ่งต่อมาเรียกอินเตอร์เน็ต และมีการกำหนดนโยบายซึ่งเป็นหลักในการทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นรูปร่างและพัฒนาต่อจนถึงปัจจุบัน
การที่ NSFNET เลือกโปรโตคอล TCP/IP นับเป็นจุดสำคัญของความต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาเครือข่าย ARPANET เพราะขณะนั้นฝ่ายสนับสนุนทุนของโครงการ ARPANET กำลังมีปัญหา NSFNET จึงก้าวต่อไป และกลายมาเป็นอินเตอร์เน็ตที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 1988 คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Research Council) ซึ่งนำโดยประธานคือ Kleinrock และคณะกรรมการประกอบด้วย Kahn และ Clark ได้เสนอรายงานที่สำคัญโดย NSF ในหัวข้อ "Towards a National Research Network" รายงานนี้มีผลต่อวุฒิสมาชิก Al Gore ซึ่งต่อมาได้เป็นรองประธานาธิบดี แนวคิดของรายงานนี้ทำให้ Al Gore เสนอแผนของชาติในเรื่องทางด่วนข้อมูลสารสนเทศ (Information Superhighway)
ในปี ค.ศ. 1994 รายงานของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งยังคงมีประธานชื่อ Kleinrock และสมาชิกที่สำคัญยังคงเป็น Kahn และ Clark นำเสนอในหัวเรื่อง "Realizing the Information Future : The Internet and Beyond" รายงานนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อความตื่นตัวทางด้านอินเตอร์เน็ต และยังได้นำเสนอปัญหาและวิกฤตการณ์หลายอย่างในเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ต เช่น ปัญหาลิขสิทธิ์ สิทธิทางปัญญา จรรยาบรรณ ราคา การศึกษา และสถาปัตยกรรมของเครือข่าย รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อไป
เดือนเมษายน ค.ศ. 1995 NSFมีนโยบายในเรื่องการแปรรูป (privatization) โดยที่พยายามกระจายให้เอกชน และหาทางหาเงินสนับสนุน เพื่อดำเนินการแบคโบนที่สำคัญ โดยเฉพาะการกระจายให้เอกชนรับผิดชอบเครือข่ายต่างๆ
เพื่อรำลึกถึงการก่อกำเนิดของอินเตอร์เน็ต ศาสตร์จารย์วัย 65 ปี Leonard Kleinrock แห่ง University of California at Los Angeles (UCLA) จึงเตรียมจัดงานวันเกิด 30th birthday party ให้กับอินเตอร์เน็ต โดยจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา และคาดว่างานวันเกิดน่าจะจัดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม เนื่องจากในวันที่ 20 ตุลาคมของปี 1969 ที่ผ่านมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กลุ่มของผู้สนใจคอมพิวเตอร์ของ UCLA ได้สร้างประวัติศาสตร์การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยสามารถติดต่อผ่านเครือข่ายกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของสถาบันวิจัย Stanford ที่ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ
ศาสตร์จารย์ Leonard Kleinrock เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ของ UCLA สวม headset เพื่อทดสอบการติดต่อสื่อสารไปยังเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ที่ Stanford หลังจากที่ระบบเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จาก UCLA จะพิมพ์ คำว่า log ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ stanford จะเติมคำว่า in ให้โดยอัติโมัติ จนเป็นที่มาของคำว่า login ที่ใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน
แต่ถ้าจะเริ่มนับกันจริงๆ จังๆ แล้ว Kleinrock กล่าวว่าการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในครั้งแรกน่าจะเป็น วันที่ 2 กันยายน 1969 เสียมากกว่า เพราะว่าเขาและทีมงานได้ต่อสวิตช์เครื่องคอมพิวเตอร์เข้สกับเราเตอร์ที่ตอนนั้นมีขนาดเท่ากับตู้เย็นดีๆ นี่เอง ในขณะนั้นเรียกเครื่องดังกล่าวว่า Interphase Message Processor แต่หลายคนคิดว่าการต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตครั้งแรกน่าจะเป็นวันที่ 20 ตุลาคม เนื่องจากมีการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายเกิดขึ้น

ลอกมาจากหนังสือ Internet Magazine ฉบับที่ 19
Internet Magazine ฉบับที่ 39
http://www.isoc.org/internet_history/