๒๒.การสอนให้เชื่อเรื่องกรรมทำให้เป็นคนยอมแพ้ต่อชีวิต และ
กรรมไม่มีตัวตนจะทำให้คนดีชั่วมั่งมีศรีสุขได้อย่างไร จะต้องมี
พระเจ้าเป็นผู้กำหนดจึงจะถูกใช่ไหม?
        ปัญหานี้ออกจะมีโมหาคติคือลำเอียงเพราะความไม่รู้มากไปหน่อยเพราะพูดไปพูด
มาแสดงว่ากรรมในความหมายของพระพุทธศาสนาคืออะไรกันแน่ ก็ไม่เข้าใจซึ่งก็น่า
เห็นใจ ก่อนอื่นควรทราบว่ากรรมในความหมายของพระพุทธศาสนาคืออะไร?
        กรรมคือความจงใจที่บุคคลกระทำลงไป ทางกาย ทางวาจา อาจจะออกมาในทางดี
ไม่ดี กลางๆก็ได้ท่านเรียกว่า กุศลกรรม อกุศลกรรม และอัพยากตกรรม ตามลำดับ
        ด้วยเหตุนี้จะพบว่าชีวิตของเราทุกคนจึงผูกพันอยู่กับกรรมไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
ตลอดเวลา การอาบน้ำ ทานข้าว เรียนหนังสือ ทำงาน งานประจำวันทุกรูปแบบ
ของคนล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากความจงใจที่บุคคลกระทำลงไปนั้นมีอะไรบ้างที่ไม่เป็น
กรรม?
        พระพุทธศาสนาแสดงว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมกรรมเป็นตัวแบ่งแยกให้คน
แตกต่างกัน ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เห็นได้ทันทีทันใด เช่นนักเรียนๆหนังสือ ผลสอบออกมา
ไม่เหมือนกัน คนทำราชการมีความก้าวหน้าต่างกัน คนประกอบอาชีพเดียวกันแต่ประสบ
ความสำเร็จแตกต่างกัน แม้คนที่ปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมก็ได้รับผลไม่เหมือนกัน
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการจำแนกของกรรมทั้งนั้น
"กรรมจำแนกให้ต่างกันอย่างไร?"
        คือในการเรียน การทำงาน การประกอบอาชีพ การศึกษา และการปฏิบัติธรรม
ของคนเหล่านั้น มีเจตนาคือความจงใจ ความตั้งใจไม่เท่ากัน ผลจึงออกมาไม่เหมือนกัน
        อันที่จริงคำสอนเรื่องกรรมนั้นพระพุทธศาสนาเน้นหนักไปในกรรมปัจจุบันคือการ
กระทำของคนในปัจจุบันเป็นหลักสำคัญโดยสอนให้คนยอมรับเงื่อนไขแห่งกรรมว่า
        "คนเรามีกรรมเป็นของๆตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรม
เป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นเป็นที่พึ่งอาศัยใครทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตามจะต้องเป็น
ผู้รับผลของกรรมนั้น"
        ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาได้จำแนกประเภทของกรรม พร้อมทั้งผลให้คนเลือก
กระทำและละเว้นตามสมควรแก่กรณี หากเขาต้องการความสุขความเจริญในชีวิตคือ
        กุศลกรรม เช่น ความขยัน มีสติ มีเมตตา กรุณา ในการดำรงชีวิตให้ผลเป็น
ความสุข ความเจริญ
        อกุศลกรรม เช่น ความเกียจคร้าน การลักขโมย การดื่มสุรา ยาเสพติด ขาดสติ เขลา มีความริษยาอาฆาตให้เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน
        จะเห็นได้ว่าการสอนเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา แทนที่จะสอนให้คนแพ้ชีวิตกลับ
เป็นการกระตุ้นให้คนสำนึกว่า ความดี ความชั่ว ความทุกข์ ความเจริญ ก้าวหน้า ความมั่งคั่ง ยากจน ในชีวิตของตนนั้นหาได้เนื่องด้วยอำนาจภายนอกไม่ แต่ขึ้นอยู่
กับการกระทำของตนเองเป็นผู้สร้าง ผู้ทำลาย ผู้ดำรงรักษาชีวิตของตนด้วยตนเอง
        ตามหลักพระพุทธศาสนา นั้นกรรมของตนนั้นย่อมมีทั้งส่วนที่เป็นอดีตกาลใกล้
และอดีตกาลนานไกลและปัจจุบันกรรม อันมีความสลับซับซ้อนอยู่ในชีวิตของคนการ
อำนวยให้เกิดผลในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยปัจจุบันกรรมเป็นหลัก อดีตกรรมมีความ
สำคัญรองลงมาจึงไม่มีปัญหาอะไรที่จะทำให้คนผู้ไม่มีความเข้าใจและเชื่อมั่น
ในกฏแห่งกรรมจะยอมแพ้ต่อชีวิตมัวรอการบันดาลแห่งกรรมอยู่ เพราะกรรมจะบันดาล
ให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ทำกรรมเท่านั้นและผลที่เกิดขึ้นจากการบันดาลแห่งกรรมก็ต้อง
ไม่ขัดแย้งกับเหตุที่บุคคลได้กระทำลงไป เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า
ยาทิสํ  วปเต พีชํ  ตาทิสํ  ลภเต ผลํ
กลยาณการี กลยาณํ  ปาปการี จ ปาปกํ
        แปลว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำความชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
        การเชื่อและยอมรับกฏแห่งกรรมจะเป็นประทีปนำทางชีวิตให้บุคคลในสังคมมีความ
เคารพเชื่อมั่นในตนเองมากยี่งขึ้น จะต้องการผลเช่นไรก็ใช้ความเพียรพยายามประกอบ
เหตุเพื่อให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการดลบันดาลจากอำนาจภายนอก
พร้อมที่จะต่อสู้ผจญอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยสติปัญญาความเพียรของตน
        เวลาแห่งชีวิตจะถูกใช้ไปเพื่อกุศลกรรมอันนำผลเป็นความสุขความเจริญให้เกิดขึ้น
แก่ตน แทนที่จะมัวอ้อนวอนบวงสรวง สะเดาเคราะห์ ผูกดวง วิ่งหาเจ้าพ่อเจ้าแม่ ขอหวยกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
        แต่ในปัจจุบันคนบางพวกเป็นอย่างไรบ้าง?
        คนบางพวกกลายเป็นทาสที่ปล่อยแล้วไม่ยอมไปเมื่อก่อนเคยปล่อยให้วิถีชีวิตของ
ตนขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของ ธรรมชาติ ผีสาง เทวดา เทพเจ้า พรหมลิขิต พระเป็นเจ้า ปัจจุบันพวกเหล่านั้นมากลายเป็นดวง เป็นพระเจ้า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของตน
ถือว่าเป็นเรื่องของดวงกันหมด อาชีพหมอดู การสร้างเครื่องรางของขลังกลับเป็นอาชีพ
ที่สร้างความร่ำรวยให้แก่คนที่อยู่ในอาชีพนี้อย่างมาก
        นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ เป็นต้น อุตส่าห์เรียนและทำงานมาด้วยความเหนื่อย
ยาก แต่กลับต้องให้หมอดูช่วยตรวจดูว่าตนจะสอบไล่ได้ไหม ? จะได้เลื่อนตำแหน่งไหม จะได้เลื่อนสมณศักดิ์ไหม ? เป็นต้น
        การกระทำอันขาดความรับผิดชอบออกมาในรูปของอาชญากรรมต่างๆได้เกิดขึ้นครั้ง
แล้วครั้งเล่าในสังคม จนกลายเป็นความชาชินกันไปเสียแล้วหากคนเหล่านี้ยอมรับเชื่อ
ในกฏแห่งกรรมแล้วเรื่องเลวร้ายต่างๆในสังคมจะเกิดขึ้นหรือ ?
        ในตอนสุดท้ายของปัญหาที่อ้างเป็นทำนองว่าผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเป็นของพระ
เจ้านั้นไม่มีความเห็น เพราะจะกระทบกระเทือนต่อศาสนาอื่น เรื่องเหล่านี้ขอเพียงคนได้
ใช้ปัญญาตรวจสอบชีวิตของตนที่ผ่านมาทั้งในด้านดีและไม่ดี จะเห็นด้วยตนเองว่าผล
เหล่านั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องที่นำไปสู่การถกเถียงที่ไม่เกิด
ประโยชน์อะไร อย่างที่เคยถกเถียงกันมานานแสนนานแล้ว

๒๓.เรื่องกรรมมีจริงหรือไม่ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง หรือไม่ ขอทราบเหตุผลว่าพระพุทธศาสนา แสดงเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร?
        เรื่องกรรม การให้ผลของกรรมตามสมควรแก่เหตุที่บุคคลได้กระทำลงไปนั้น เป็นเรื่อง
จริงๆอย่างที่ได้กล่าวมาส่วนหนึ่งแล้วในข้อก่อน
        สำหรับในที่นี้จะพูดในส่วนที่เป็นการให้ผลของกรรมว่าเราจะสังเกตุได้อย่างไรเป็น
การเพิ่มเติมจากปัญหาข้อก่อน แต่อย่าลืมว่ากรรมมีความสลับซับซ้อนอยู่มาก
พระพุทธเจ้าทรงจำแนกในแง่การให้ผลของกรรมเพื่อเป็นหลักในการกำหนดพิจารณา
เชื่อมโยงให้เห็นว่าอะไรเป็นผลของอะไรเรียกว่า มหากัมมวิภังคสูตรคือสูตร
ที่ทรงจำแนกกรรมขนาดใหญ่แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ
        ๑.พฤติกรรมของคนที่เป็นไปตามคัลลองแห่งกุศลธรรมแต่ได้รับความทุกข์ความเดือด
ร้อนในชาตินี้ และบังเกิดในทุคติหลังจากตายไปแล้วก็ม
        ๒.พฤติกรรมของบุคคล ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่าเป็นคนทำทุจริตแต่ได้รับความสุข
ความเจริญในชาติปัจจุบันและบังเกิดในสุคติหลังจากตายไปแล้วก็มี
       ๓.พฤติกรรมของคนบางคนปรากฎให้เห็นในปัจจุบันว่าประกอบด้วยสุจริตธรรม
ด้วยได้รับความสุขในชีวิตปัจจุบันและตายไปเกิดในสุคติด้วยก็มี
       ๔.พฤติกรรมของคนบางคนปรากฎให้เห็นในปัจจุบันว่าเป็นผู้ทำทุจริตด้วยได้รับ
ความทุกข์ในชาติปัจจุบันและตายไปบังเกิดในทุคติด้วยก็มี
        จากหัวข้อใหญ่ๆ๔ หัวข้อนี้จะพบว่า ๑-๒ ฟังดูออกจะสับสนเพราะดูเหมือนจะ
ขัดแย้งกันจนถึงกับมีคนกล่าวว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" เป็นต้น
        ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่เข้าใจนัยแห่งมหากัมมวิภังคสูตรการที่มองตามตัวอักษรเห็นว่า
สับสนนั้นอันที่จริงหาสับสนไม่ การที่คนสองประเภทแรกได้รับผลตรงกันข้ามกับกรรม
ในปัจจุบันของตน เป็นเพราะอกุศลกรรมและกุศลกรรมในอดีตมามีอิทธิพลเหนือชีวิต
ของเขา กรรมที่ปรากฎในปัจจุบันจึงไม่อาจให้ผลได้ต้องยกยอดไปให้ผลในโอกาส
ต่อไปส่วนสองประเภทหลังให้ผลแบบตรงตัวแต่ทั้งสี่ประเภทนั้นยังคงอยู่ในหลักการที่ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" อยู่นั่นเองข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ความว่า
        -เป็นไปไม่ได้ที่คนผู้กระทำความชั่วแล้วจะได้รับผลเป็นความสุขความเจริญเพราะ
การกระทำความชั่วนั้นเป็นเหตุให้เกิดขึ้น
        -เป็นไปไม่ได้ที่คนซึ่งกระทำความดีแล้วจะได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะการกระทำความดีของตนเป็นเหตุ
        หากใครประสบกับผลที่มีลักษณะขัดแย้งกับเหตุที่ตนกระทำในปัจจุบันพึงรู้เถิดว่าผล
นั้นจะต้องเกิดมาจากเหตุในอดีตอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่ผลที่ปรากฎ
        อันที่จริงการให้ผลแห่งกรรมนั้นเป็นการให้ผลตามลำดับที่บุคคลอาจกำหนดสังเกตุได้ เช่นบุคคลปลูกมะพร้าวสักต้นหนึ่งผลจะเกิดตามลำดับดังนี้
        อันดับแรก ได้ต้นมะพร้าวเป็นสมบัติหนึ่งต้น
        อันดับสอง  เมื่อเวลาผ่านไปด้วยการเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน มะพร้าวก็ออกลูก
        อันดับสาม  ลูกของมะพร้าวที่ออกมานั้นย่อมให้ผลไปตามลำดับจากอ่อนถึงสุก
        อันดับสี่  เมื่อเรานำผลไปขาย หรือปรุงอาหาร ก็ได้รับประโยชน์จากมะพร้าวนั้น
        และผลของมะพร้าวนั้นจะตามให้ผลแก่คนซ้ำซ้อนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ แม้ในเรื่อง
อื่นๆก็ทำนองเดียวกัน ขอเพียงใช้ความสังเกตพิจารณาก็จะเห็นได้ไม่ยากนัก
        อีกประการหนึ่งที่ท่านถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะทำให้กรรมสามารถแสดง
ผลเต็มที่ทั้งในด้านดีและไม่ดีคือ
        -กาล หมายถึงยุคสมัยที่ผู้ปกครองหัวหน้าเป็นต้นลักษณะส่งเสริมให้ผลกรรม
ปรากฎได้ชัดเจน เช่น มีผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นคนดี ถือว่าเป็นกาลสมบัติ
        -คติ หมายเอาภพ กำเนิด สถานที่ที่ตนอยู่อาศัยเกิดอำนวยให้กรรมให้ผลได้เติมที่
        -อุปธิ คือเรื่องสุขภาพพลานามัย  ความสมบูรณ์ บกพร่องแห่งอวัยวะร่างกาย
        -ปโยคะ คือการกระทำในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางสนับสนุนให้กรรมแสดงผลได้
เต็มที่หรือไม่
        ทั้ง ๔ ประการนี้ท่านจัดเป็นสมบัติคือสมบูรณ์ วิบัติคือบกพร่องไปในด้านกุศลกรรม
หากทั้ง๔ประการนี้สมบูรณ์ ผลกรรมก็ปรากฎได้อย่างเด่นชัด อย่างที่เรียกกันว่า

"บุญมาวาสนาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก"
หากองค์ประกอบ ๔ ประการนี้บกพร่องไป กรรมทั้งสองฝ่ายก็ให้ผลเต็มที่ไม่ได้แต่
ที่แน่นอนที่สุดคือคนเราทำกรรมอันใดไว้ก็ตามไม่ว่าจะดีหรือชั่วจะต้องเป็นผู้รับผลของ
กรรมนั้น ให้ใช้สติปัญญาระลึกพิจารณาให้ดี ก็จะเห็นได้สำคัญอย่าหลงประเด็นก็แล้วกัน.

๒๔.นาย ก.ได้รับทุกข์เวทนาแรงกล้า นายข.จึงยิงให้ตายด้วย
ความสงสาร ต้องการให้พ้นจากความทุกข์เวทนานั้น การกระทำ
ของนาย ข อย่างนี้จะผิดหรือถูกอย่างไร ถ้าผิดเป็นการผิดศีล
หรือผิดธรรม ?
         ผิดทั้งศีลและธรรมไม่มีเหตุผลสำหรับอ้างเช่นนั้น เรื่องนี้เพียงแต่ทำตนเองเป็นอุปมา
ว่าหากเราได้รับความทุกข์ทรมานอย่างหนักมีคนมายิงให้เราตายเรายินดีไหม ?  คำตอบจะออกมาได้เอง ฆ่าคนด้วยความสงสารมีได้หรือ?
        นอกจากจะเป็นคำพูดแบบหลอกตัวเอง เพราะไม่ต้องการรับผิดชอบในคนสัตว์ที่ตน
จะต้องรับผิดชอบในความเป็นอยู่อย่างปกติของเขาของมัน เช่นมีข่าวเสมอว่าฝรั่ง
ยิงสุนัขบ้าง ม้าของตนบ้างให้ตาย เพราะตนไม่อาจเลี้ยงดูได้เป็นต้น
        เป็นการกล่าวอ้างไปอย่างนั้นเองให้ลองตรวจสอบจิตใจตนดูว่าอะไรคือความรู้สึก
อันแท้จริง ที่กระตุ้นให้ตนต้องทำเช่นนั้น จะพบว่าไม่ใช่ความกรุณาแน่นอน อาจจะเป็น
ความเบื่อหน่ายระอา ความหวง ความเห็นแก่ตัวเป็นต้น
        คนสัตว์ประสบความทุกข์ทรมาน ท่านสอนให้กรุณาช่วยเหลือตามกำลังความ
สามารถ หากทำไม่ได้จริง ๆให้ทำใจเป็นอุเบกขา คือพิจารณาให้เห็นความที่สัตว์
หรือคนนั้นมีกรรมเป็นของ ๆตน เป็นต้น ไม่ใช่ทำด้วยการฆ่าให้ตาย
        การกระทำของนาย ข. ในปัญหานี้จึงผิดศีลข้อที่ ๑ และขาดเมตตา กรุณา ทั้งผิดกฎ
หมายในฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาด้วย ถ้าทำอย่างนั้นจริงคงต้องกินข้าวหลวงนาน
ทีเดียว.