๒๘.การสอนเรื่องนรกสวรรค์ตายแล้วไปเกิดอีกจะไม่ทำให้เห็น
ว่าล้าสมัยหรือ ?
        แล้วสอนเรื่องอะไรจึงจัดว่าทันสมัยละ ?
        หรือจะให้สอนเรื่องข้าราชการบางคนคอรัปชั่น ปัญหายาเสพติดให้โทษ อากาศ
เป็นพิษ หรือว่าปัญหาอาชญากรรม งานเหล่านี้มีคนทำกันมากแล้ว ถ้าขืนสอนไป
จะหาว่าพระเล่นการเมือง พูดเรื่องชาวบ้าน จนถึงแย่งงานชาวบ้าน แต่เรื่องเหล่านี้
เมื่อขอบข่ายของธรรมะโยงไปถึง ผู้แสดงก็จะยกมาแสดงตามสมควรแก่เหตุอยู่เช่น
เดียวกัน
        แนวโน้มในการอธิบายธรรมในปัจจุบัน ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าพระจะไม่ค่อยพูด
ถึงเรื่องนรกสวรรค์แบบที่เป็นภพชาติ โลกหน้ามากนัก แต่จะเน้นหนักไปในรูปของ
การประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดสวรรค์ภายในจิตใจ หลีกเลี่ยงนรกภายในใจ และเป็น
เทวดาเป็นพรหมด้วยการปฏิบัติธรรมกันมากกว่า เพราะแสดงอย่างไรผลก็จะออกมา
ในลักษณะเดียวกันดังกล่าวแล้วในข้อก่อน
        ข้อที่กล่าวว่าพูดถึงเรื่องเหล่านี้จะไม่ทำให้ล้าสมัยหรือนั้น หาได้เป็นการล้าสมัย
แต่ประการใดไม่ หากความหมายของคำว่าทันสมัยหมายถึงทันกับเหตุการณ์สังคม
จริยธรรมของสังคม เราจะพบว่าการยอมรับนับถือเรื่องนรกสวรรค์ในแง่ใดก็ตาม
ย่อมเกี่ยวโยงเข้าหาความเชื่อกฎแห่งกรรม เพราะนรกสวรรค์เป็นผลของกรรมความเชื่อ
เรื่องนรกสวรรค์จึงย้อนกลับไปหาเหตุผลตามลำดับไปเป็นรูปของปฏิกิริยาลูกโซ่
ซึ่งจะช่วยให้ความเจริญในด้านวัตถุกับจิตใจมีความสัมพันธ์กันดังนี้
        การยอมรับนับถือเรื่องนรกสวรรค์นำไปสู่การยอมรับนับถือกฎแห่งกรรม
        ความเชื่อในกฎแห่งกรรมนำไปสู่การละความชั่วทำความดี
        การละความชั่วทำความดีนำไปสู่การพัฒนาด้านจิตใจความประพฤติ
        การพัฒนาจิตใจนำไปสู่ความสุขความสงบทางจิตใจ
        ความสุขความสงบที่เกิดภายในจิตของคนในสังคมนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
        การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขเป็นการสร้างสวรรค์เกิดขึ้นในโลกมนุษย์
        ปัจจุบันวิชาการทางเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปไกลมากแต่เนื่องจากความเจริญใน
ปัจจุบันมีลักษณะเป็นดาบสองคม เพราะวัตถุได้ก้าวล้ำหน้าพัฒนาการทางจิตไปมาก
ความเชื่อที่นำมาเรียงไว้ตอนหนึ่งนั้น เริ่มจากจุดใดก็ตามย่อมเป็นการพัฒนาจิตใจให้
สูงขึ้นสัมพันธ์กับความเจริญทางด้านวัตถุจนถึงจุดที่สามารถ
        "ให้จิตใจที่ประกอบด้วยธรรม เหตุผล เป็นตัวนำวัตถุแทนที่จะให้วัตถุนำ
จิตใจอย่างที่เห็นกันบางแห่งในปัจจุบัน"
        การสอนและยอมรับเรื่องนรกสวรรค์ในแง่ที่ถูกต้องจึงไม่เป็นการล้าสมัยแต่เป็นการ
เร่งรัดพัฒนาด้านจิตใจพฤติกรรมของมวลชนให้สามารถเป็นผู้กำหนดวัตถุและควบคุม
วัตถุได้ด้วยพื้นฐานแห่งจิตใจที่ประกอบด้วยธรรมดังกล่าว.

๒๙.วิญญาณมีจริงหรือไม่ บางคนเข้าใจว่า ไม่มีลองค้นคว้าทาง
วัตถุแล้วก็ไม่พบด้วยประสาททั้ง ๕ จึงว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร ?
        ก่อนปฏิเสธหรือยืนยันเรื่องอะไร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบว่า"สิ่งที่เรากำลังพูด
ถึงนั้น คืออะไร?"
เรื่องของวิญญาณก็ทำนองเดียวกัน เนื่องจากคำนี้เป็นคำทางศาสนาก็ควรทราบว่าทาง
พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไรให้ได้เสียก่อน แล้วจึงจะพูดในประเด็นที่ว่ามี
หรือไม่ วิญญาณแปลว่าความรู้อารมณ์พิเศษทั้งหลาย ท่านแสดงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น
จากเหตุปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เมื่อแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆมีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
        ก.วิญญาณขันธ์ แปลว่ากองแห่งวิญญาณแบ่งออกเป็น ๖ ประเภท เรียกชื่อตาม
ที่เกิดแห่งวิญญาณนั้นๆว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ
        จักขุวิญญาณ แปลว่าความรู้ที่เกิดขึ้นทางตาองค์ประกอบที่ทำให้เกิดวิญญาณนี้คือ
ตา รูป แสงสว่าง ความสนใจ องค์ประกอบเหล่านี้ขาดไปเพียงอย่างเดียววิญญาณทางตา
จะไม่สมบูรณ์ แม้วิญญาณข้ออื่นๆก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เปลี่ยนแต่องค์ประกอบบาง
อย่าง ส่วนข้อสุดท้ายเหมือนกันคือต้องมีความสนใจที่ท่านเรียกว่า มนสิการ
        ส่วนคำแปลชื่อต่อไปนั้นท่านแปลว่า ความรู้ทางหู ความรู้ทางจมูก ความรู้ทางลิ้น ความรู้ทางกาย และความรู้ทางใจ ตามลำดับ
        ข.ปฏิสนธิวิญญาณ คือวิญญาณตามองค์ปฏิจจสมุปบาทท่านบอกว่าเป็นตัวไป
ถือปฏิสนธิในกำเนิดทั้ง ๔ คือ เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในสิ่งสกปรก และเกิดโดย
ผุดขึ้นในกำเนิดใดกำเนิดหนึ่งตามอำนาจของกรรม องค์ประกอบแห่งวิญญาณนี้ คือ  อวิชชา หรือกิเลส สังขาร คือกรรม หากไม่มี กิเลส กับกรรม วิญญาณ นี้ก็เกิดไม่ได้
        ค.วิญญาณธาตุ เป็นธาตุอย่างหนึ่งในธาตุ ๖ ประการที่มีอยู่ในตัวคนตามนัย
แห่งพระพุทธภาษิตที่ว่า "ฉ ธาตุโย ปุริโส" แปลว่าบุรุษนี้มีธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ องค์ประกอบให้วิญญาณส่วนนี้ดำรงอยู่ คือ กิเลส และกรรม เช่นเดียวกันแต่ท่านเรียกว่า อาสวะ และบารมี คือความชั่วและความดีพร้อมด้วย
กิเลสที่บุคคลเก็บสร้างสมไว้ในชาติก่อนและชาติปัจจุบัน ซึ่งมีประมาณมากน้อยแห่ง อาสวะและบารมีมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดบทบาทและวิถีชีวิตของคน
        วิญญาณเท่าที่พบในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีเพียง ๓ ประการเท่านั้น ส่วนวิญญาณที่พูดกันว่า "เชิญวิญญาณของคนนั้นคนนี้มาเข้าทรงนั้น" ไม่เคยพบที่มา
ในชั้นบาลีวิญญาณทั้ง ๓ ประเภทนี้จึงเป็นอาการของจิต แต่เมื่อทำหน้าที่รู้รูปเป็นต้นท่าน
เรียกวิญญาณตามชื่อของอายตนะที่ทำหน้าที่รู้ว่า จักขุวิญญาณเป็นต้นตัวที่ทำหน้าที่
ที่รู้จริงๆ จึงเป็นจิต ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน ท่านจึงเรียกในที่บางแห่งว่า ทวาร หมายถึงประตู ที่ผ่านของรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอารมณ์ทั้ง ๕ นี้จึงเหมือนน้ำ
ที่ไหลจากที่สูง ตกลงไปขังอยู่ในที่ราบลุ่มอันเปรียบเหมือนจิต
        ที่ว่าลองค้นคว้าทางวัตถุแล้วแต่ไม่อาจทราบได้ด้วยประสาททั้ง ๕ นั้น จึงอาจเป็น
ไปได้ ๒ ประการ คือ
        ประการแรก ไม่ทราบวิญญาณนั้น คืออะไร
        ประการที่สอง ตัวทำหน้าที่รู้จริงๆคือจิต การรู้วิญญาณ จึงเป็นงานของประสาทที่ ๖
        ปฏิสนธิวิญญาณเป็นเรื่องที่ยากแก่การเข้าใจมากเพราะเป็นขบวนการทางปฏิจจ
สมุปบาท พระพุทธเจ้าเองทรงตรัสรู้แล้วได้พิจารณากลับไปกลับมาถึง ๗ วัน ที่น่า
สังเกตคือตอนดับท่านเรียกว่า จุติจิต ตอนที่ปฏิสนธิท่านเรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ
ฝ่ายอากาศธาตุ กับวิญญาณธาตุในธาตุ ๖ นั้น ให้สังเกตว่าในชั้นแรก ท่านสอนให้รู้เพียง ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อผ่านรูปฌานไปแล้วจึงเริ่มสอนให้เรียนรู้เรื่อง อากาศ กับวิญญาณ
ในชิงปริยัติแล้วเรื่องของวิญญาณไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ความรู้ความเข้าใจวิญญาณที่
ถูกต้องสมบูรณ์นั้นจะต้องดำเนินไปในวิถีทางแห่งการปฏิบัต
        เมื่อสมัครใจพิสูจน์ต้องพิสูจน์ด้วยเครื่องมือและกรรมวิธีตามที่ท่านได้แสดงเอา
ไว้โดยไม่พยายามพิสูจน์รสอาหารด้วยตาเพราะทำอย่างไรก็ไม่อาจรู้ได้อย่างแท้จริง.