๓๖.ทำอย่างไรจึงจะมีความสุข?
        ความสุขนั้นมีหลายระดับด้วยกัน ไม่ทราบว่าหมายเอาความสุขระดับไหน?
แต่อย่างไรก็ตามควรทำใจให้ยอมรับความจริงประการแรกเสียก่อนคือ ความสุขนั้น
เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างเหตุ เพื่อให้เกิดผลเป็นความสุขตามที่บุคคลนั้นๆต้องการ
ฐานแห่งความสุขที่สำคัญ คือ ใจ กาย อย่างที่พูดกันว่า สุขกายสบายใจ เมื่อความสุข
เป็นผล เหตุให้เกิดความสุขจึงมีมาก เช่น
        -ไม่เป็นหนี้ใคร มีทรัพย์ สามารถใช้จ่ายทรัพย์ได้ตามต้องการ ทำงานไม่มีโทษ
        -ความไม่เบียดเบียนกัน ฆ่าความโกรธที่เกิดขึ้นเสียได้ ไม่ปล่อยใจไปตามความอยาก
ที่เกิดขึ้น สละประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อส่วนรวมได้ สะสมบุญกุศลไว้มากๆ ไม่คบคนพาล
การแสดงธรรม ฟังธรรม คบหาคนดีเป็นมิตร มีเมตตาจิตต่อคน สัตว์ทั้งหลาย
        -มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันละเหตุแห่งความทุกข์ได้เป็นต้น
        เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เกิดความสุขได้ทั้งนั้น สำหรับการดำรงชีวิตของคนทั่วไปการ
พยายามทำใจไม่ให้ยึดมั่นอะไรให้มากเกินไป โดยพยายามปรับใจให้ยอมรับความจริง
ตามสมควรแก่เหตุที่เกิดขึ้นได้ แล้วความสุขใจก็จะเกิดขึ้นคนเรานั้นเสียอะไรก็เสียไป แต่ใจอย่าเสียเท่านั้นก็อาจหาความสุขได้ตามสมควรแก่กรณีนั้นๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
สุขทุกข์           อยู่ที่ใจ           มิใช่หรือ
ถ้าใจถือ          ก็เป็นทุกข์      ไม่สุขใส
ใจไม่ถือ           ก็เป็นสุข        ไม่ทุกข์ใจ
เราอยากได้       ความสุข        หรือทุกข์นา
        แต่ความสุขที่ไม่เจือปนด้วยความทุกข์นั้น ต้องเกิดจากการละเหตุแห่งทุกข์ ด้วย
ความสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลาย จะทำให้ได้ความสงบอันเป็นนิพพานซึ่งเป็นบรมสุข.

๓๗.นิพพานนั้นมีจริงหรือไม่จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่านิพพานมีจริง?
        มีนะมีอยู่ เพราะท่านผู้ใดบรรลุนิพพานมีมากต่อมากตามหลักฐานทางพระพุทธ
ศาสนา การที่จะพิสูจน์ว่านิพพานมีอยู่หรือไม่อย่างไรนั้น ต้องพิสูจน์ตามกรรมวิธีที่ท่าน
ผู้ได้บรรลุนิพพานได้พิสูจน์มาแล้ว เหมือนการพิสูจน์รสอาหารด้วยลิ้นการพิสูจน์เสียง
ด้วยหูฉะนั้น เครื่องมือในการพิสูจน์ว่านิพพานมีอยู่จริงหรือไม่คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพียงอย่างเดียวที่จะนำคนให้พบเห็นพระนิพพานด้วยปัญญา
ของตน มรรคมีองค์ ๘ประการคือ
        "ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทำความพยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ"
        หากใครต้องการพิสูจน์ให้ประจักษ์ชัดด้วยตนเองก็ต้องปฏิบัติไปตามอริยมรรค
มีองค์ ๘ ประการนี้ให้บริบูรณ์ไม่บกพร่อง แล้วก็จะรู้ได้ด้วยตนเองเพราะนิพพานเป็นบรม
ธรรม อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตนเหมือนกับผู้บริโภคอาหารชนิดนั้นๆเท่านั้นจึงจะ
ทราบรสอาหารด้วยตนเองการอธิบายเรื่องรสอาหารไม่อาจให้ทราบรสอาหารที่แท้จริง
ได้ฉันใด ลักษณะแห่งนิพพานก็มีลักษณะเช่นเดียวกันฉันนั้น
        หากว่ายังไม่อาจที่จะปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ประการ ให้บริบูรณ์ได้บุคคลควร
ปฏิบัติตนอย่างไรจึงสามารถทำใจให้ยอมรับความมีอยู่แห่งนิพพานได้?
        นิพพานนั้นอาจแบ่งได้ ๒ ระดับ คือ
        นิพพานที่เป็นส่วนเหตุได้แก่การขจัดกิเลสให้ออกไปจากจิต จิตเป็นอิสระไม่ต้องทำ
อะไรไปตามอำนาจของกิเลสอย่างสามัญชน
        นิพพานที่เป็นส่วนผลที่เกิดสืบเนื่องมาจากการละกิเลสได้เป็นสภาพที่ไม่ถูกแผดเผา
ด้วยเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์กลับเป็นความสงบ ความสุขอย่างแท้จริง
        ตามที่ท่านแสดงว่า

       ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี  นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง
        เมื่อว่ากันโดยเหตุผลเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงว่าการละกิเลสได้จะมากหรือน้อย
ก็ตามทำให้ผู้ละกิเลสได้เข้าสู่เขตของนิพพานในระดับใดระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
นิพพานที่เรียกว่า
        สันทิฏฐิกนิพพาน คือ นิพพานที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตน เช่นมีเรื่องมากระทบจน
เกิดความโกรธอย่างรุนแรง แต่ก่อนที่จะกระทำอะไรลงไปตามแรงกระตุ้นของความโกรธ
กลับมีสติยับยั้งความโกรธเอาไว้ได้ จนจิตกลายเป็นความเมตตา กรุณาเป็นต้น บุคคล
นั้นสามารถเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการฆ่าความโกรธลงไปว่า ให้ความสงบเย็นใจมากน้อย
เพียงไร มื่อมองไปในมุมตรงกันข้ามคือการทำอะไรลงไป ตามอำนาจของความโกรธก็จะ
เห็นว่า เวร ภัย เป็นอันมากที่จะเกิดขึ้นเผาลนจิตใจของตนให้เกิดความเร่าร้อนจิตหลุด
พ้นด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องนั้นๆ ท่านเรียกว่า ตทังควิมุตติคือจิตหลุด
พ้นจากกิเลสได้ชั่วคราว เป็นส่วนหนึ่งของสภาพจิตที่เรียกว่านิพพานซึ่งเป็นการแสดงให้
เห็นได้ว่าส่วนเล็กๆของนิพพานนั้น เป็นที่คนปกติทั่วไปที่ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต
สามารถสัมผัสได้ รู้ได้ด้วยใจของตนเองหากบุคคลไม่อาจพิสูจน์ได้ แม้ด้วยวิธีนี้ก็ต้อง
อาศัย ตถาคตโพธิสัทธาคือการเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ได้
ตรัสรู้ด้วยการทรงบรรลุนิพพาน ทรงสั่งสอนธรรมแก่โลกในระดับต่างๆ ระดับที่สูงสุดนั้น
คือเรื่องมรรคผลนิพพานพระพุทธองค์และอรหันต์ทั้งหลายนั้นได้ปรินิพพาน นิพพานไป
แล้วมากต่อมาก
        ข้อที่ไม่ควรลืมคือการที่บุคคลจะพิสูจน์อะไรก็ตามจะต้องพิสูจน์ตามหลักการและวิธี
การเพื่อพิสูจน์ทดสอบเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะอย่าพยายามพิสูจน์กลิ่นหอมของดอกไม้ด้วย
สายตาเป็นอันขาดเพราะจะเสียเวลาไปโดยไม่เกิดประโยชน์ตามที่ตนต้องการได้.

๓๘.นิพพานเป็นสภาพที่ดับแล้วจะมีความสุขอย่างไรจะเอาดีกับ
นิพพานทางไหน?
        เอาดีทางจิตที่หลุดพ้นจากการถูกบงการของกิเลส อันเป็นเหตุให้เวียนเกิดเวียนตาย
จนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นว่าความเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์เรื่อย
ไป จึงเพียรพยายามตัดกระแสแห่งกิเลสตัณหา อันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพเสียได้ท่านเอาดี
ของท่านในทางนี้
        หากเราจะเปรียบเทียบกันแล้ว ความสุขขั้นโลกิยะในระดับต่างๆนั้นเหมือนความสุข
จากการเกาแผลคัน พอเกิดคันขึ้นมาก็ต้องเกาแผล ความรู้สึกว่าตนเป็นสุขก็เกิดขึ้น
กามสุขนั้นเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองความปรารถนาของตนได้หากตอบ
สนองความต้องการไม่ได้ก็กลายเป็นความทุกข์
        ฝ่ายความสุขที่เกิดจากนิพพานนั้นเหมือนความสุขของคนที่มีร่างกายปกติไม่มีแผล
คันให้ต้องเกาคือ จะเกิดความสุขขึ้นเป็นปกติ เพราะร่างกายปกติไม่จำเป็นต้องไปสร้าง
เหตุแห่งความสุขอีกต่อไป
        การกล่าวว่านิพพานเป็นความสุขนั้น เหมือนการกล่าวว่าอาหารอร่อยเมื่อคนเหล่านั้น
ได้ปริโภคอาหารนั้นฉันใด การบอกว่านิพพานเป็นความสุขท่านที่บอกต้องเป็นผู้ได้บรรลุ
นิพพานแล้วฉันนั้น หากบุคคลไม่ยอมเชื่อวาทะของพระอริยบุคคลเช่นนั้นก็ไม่ทราบว่า
จะเชื่อใครแล้วในโลกนี้ และความสุขที่ท่านเรียกว่า นิพพานสุข นั้นบุคคลอาจสัมผัสได้ใน
ส่วนหนึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อก่อน.