๓๙.การบวชไม่เป็นการฝืนธรรมชาติหรือถ้าคนบวชกันหมดมนุษย์
ไม่สูญพันธุ์หรือ?
        โดยหลักทั่วไปจะพบว่าพัฒนาการของมนุษย์ในด้านต่างๆนั้นเกิดขึ้นจากมนุษย์ไม่
ยอมสยบต่ออำนาจของธรรมชาติ พยายามต่อสู้กับธรรมชาติ ฝืนธรรมชาติและควบคุม
ธรรมชาติ จนสามารถใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตของตน การฝืนธรรม
ชาติได้จึงแสดงถึงความเข้มแข็งการพัฒนาและความมีชีวิตของคนสัตว์เหล่านั้น
        ปลาที่มีชีวิตคือปลาที่ว่ายทวนกระแสน้ำ ส่วนปลาที่ลอยตามกระแสน้ำคือปลาที่ตาย
แล้ว สัตว์โลกเป็นอันมากที่ได้สูญพันธุ์ไปจากโลก เช่นไดโนเสาร์ สัตว์เหล่านั้นไม่อาจ
ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งไม่อาจต้านทานต่อความวิปริตของธรรม
ชาติ ในที่สุดก็ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้
        การบวชเป็นลักษณะการทางพัฒนาการประการหนึ่งที่เป็นอุบายวิธีให้ผู้บวชเข้ามา
สามารถฝืนพลังธรรมชาติของจิตและปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ อันเป็นการแสดงถึง
ความมีชีวิตก้าวหน้าของมนุษย์ที่จะก้าวไปเหนืออำนาจธรรมชาติ ในที่สุดสำหรับข้อที่ว่า
ถ้ามนุษย์บวชกันหมด กลัวมนุษย์จะสูญพันธุ์นั้นเป็นสมมติฐานที่ไม่อาจเป็นไปได้และ
จะเป็นไปไม่ได้ตลอดไป การกลัวในลักษณะดังกล่าวจึงจะเป็นการกลัวของไส้เดือน
อย่างที่ท่านแสดงว่า ไส้เดือนกินดินแต่ไม่กล้ากินดินมากเพราะกลัวแผ่นดินจะหมด.

๔๐.พระบวชแล้วก็สึก ทั้งมีการสะสมสมบัติและไม่ทำมาหากิน
อะไร เกาะกินแต่ชาวบ้านจริงไหม?
        เรื่องนี้จะจริงหรือไม่จริงนั้น ทุกคนมีสิทธิจะคิดจะพูดกันได้ แต่หลักความจริงก็คือ
ความจริงที่วิญญูชนพิจารณาแล้วอาจเกิดความเข้าใจได้ไม่ยากนัก
        ในกรณีของการบวชแล้วสึกนั้นเป็นการแสดงให้เห็นจุดเด่นในพระพุทธศาสนาหลาย
ประการ เช่น
        ๑.พระพุทธศาสนาเป็นเสรีนิยม คือคนเราเมื่อมีศรัทธาจะบวชก็บวชได้หากไม่
เป็นคน ต้องห้ามตามพระวินัย เมื่อศรัทธาหย่อนลงไปหรือด้วยเหตุผลอย่างไรก็ตาม
ปรารถนาจะสึกออกไปก็ชอบที่จะทำได้ไม่มีการบังคับ วันหลังเกิดศรัทธาจะบวชอีกก็ทำ
ได้อีกไม่มีการห้ามแต่ประการใด
        ๒.เป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคมไทย คือคนไทยนิยมว่าลูกผู้ชายทุกคนควรออก
บวชจะมากหรือน้อยก็ตาม ยิ่งสมัยโบราณถือกันเคร่งครัดมาก แม้จะแต่งงาน รับราชการ ต้องผ่านการบวชมาเสียก่อน ค่านิยมแบบนี้มีเฉพาะประเทศไทย ลาว เขมร เท่านั้น
        ๓.การบวชและสึกเป็นเรื่องของระบบขับถ่าย อันแสดงถึงความมีชีวิตของ
สิ่งนั้นๆ เมื่อธรรมเนียมไทยมีเช่นนี้ ผู้บวชแล้วจะต้องสึกให้มากไว้ หากสึกแต่น้อยแล้ว
จะเกิดปัญหาเรื่องที่อยู่ เพราะในแต่ละพรรษามีคนบวชเข้ามาจนเกือบจะไม่มีที่อยู่แล้ว
หากท่านเหล่านั้นไม่ยอมสึกสัก ๓ ปีเท่านั้นจะเกิดปัญหาทันทีเพราะคนรุ่นใหม่จะไม่มี
โอกาสได้บวช ดีไม่ดีอาจถึงกับมีการเดินขบวนเพื่อให้พระสึกกันเพื่อให้คนอื่นมีสิทธิบวช
กันบ้างก็เป็นได้
        ๔.การบวชแล้วสึกออกไปย่อมดีกว่าอยู่ไปในสมณเพศทั้งที่ไม่มีศรัทธา        เพราะอาจจะไปทำอะไรเสียหายขึ้นมาก็ได้ เมื่อบวชทำตัวเป็นพระที่ดี สึกไปเป็นชาวบ้าน
ที่ดี ไม่เป็นเรื่องเสียหายอันใดที่ควรแก่การตำหนิของบัณฑิตทั้งหลาย
        ประเด็นที่ว่าพระมีการสะสมสมบัตินั้นเราต้องมองกันด้วยเหตุผลและความเข้าใจ
กว้างพอสมควร หมายความว่า ตัวอย่างบุคคลในเรื่องนี้มีมากพอที่เราจะกล่าวว่าพระ
สะสมสมบัติไม่ใช่เห็นคนไทยทำผิดสักคนแล้วจะพูดเหมาเอาว่าคนไทยเป็นคนเลว
อย่างนี้ก็ไม่ถูกนัก พระสะสมสมบัตินั้นอาจมีสองกรณีด้วยกันคือ
        ๑.สมบัติที่คนเข้าใจว่าพระสะสมนั้นเป็นสมบัติของวัด ซึ่งท่านมีหน้าที่รักษารับผิด
ชอบจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี
        ๒.สิ่งที่ท่านสะสมนั้นเป็นสมบัติส่วนตัวที่ได้รับจากการบริจาคของทายกทายิกาจะ
ศรัทธามากนั้น ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนในความรับผิดชอบที่ต้องสงเคราะห์ด้วย
อามิส คือปัจจัย ๔ นั้นมีมากเช่นเดียวกัน หากท่านไม่มีการเก็บไว้บ้างเพื่อการนี้เวลา
มีบุคคลจำต้องสงเคราะห์มาหาจะให้ทำอย่างไร?
        อย่างไรก็ตามการสะสมในระดับนี้ แม้จะมีก็น้อยมาก เพราะว่าพระภิกษุในพระพุทธ
ศาสนานั้นมักจะมีเรื่องทาน จาคะ สงเคราะห์เป็นหลักปฏิบัติและขอบข่ายการสงเคราะห์
ของท่านนั้น มีขอบข่ายกว้างไกลอย่างไม่น่าเชื่อว่า พระผู้ใหญ่จำนวนมากจะต้องรับผิด
ชอบในเรื่องเหล่านี้ถึงอย่างนั้น
        การสะสมแบบนี้อาจแบ่งออกเป็นสองพวก คือ
        การสะสมเพื่อรวบรวมไว้จะได้เสียสละช่วยเหลือคนอื่นหรือบำเพ็ญกุศลตามความ
จำเป็นการสะสมแบบนี้ ไม่ควรตำหนิ แต่ควรแก่การยกย่อง
        การสะสมด้วยการตระหนี่ หากว่ามีจริงๆก็ควรแก่การตำหนิอย่างมาก แต่เรื่องนี้เป็น
เรื่องที่บุคคลผู้จะตัดสินวินิจฉัยว่า ท่านสะสมประเภทใดจำเป็นต้องมองให้ตลอดสาย
ไม่ไช่ไปสร้าง "กรมประมวลข่าวลือ" ขึ้นมาทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของพระเถระทั้ง
หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาท่านมรณภาพลงข่าวอกุศลจะเกิดขึ้นเสมอ ในกรณีที่ท่าน
รูปนั้นมีชื่อเสียงตำแหน่งสูง พอสืบต้นตอเข้า อ้างเขากันจนลงเหว ก็ไม่ทราบว่าเขาไหน
เป็นพฤติกรรมที่น่าอนาถใจนัก
        หากว่าพระสะสมประเภทที่สองจะมีอยู่บ้าง แต่มิได้หมายความว่าพระทั่วไปเป็นพวก
ที่ชอบสะสม เพราะปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ท่านสะสมหรือไม่ แต่กลับอยู่ที่ว่าท่านจะเอาอะไร
มาสะสมต่างหาก
        ในกรณีของการเกาะกินชาวบ้านนั้นเป็นการพูดแบบไม่มีความรับผิดชอบ ส่วนมาก
คนพูดแบบนี้เกิดมาชาติหนึ่งจะเคยตักบาตรหรือเปล่าก็ไม่รู ้แต่พูดไปด้วยความริษยา
ต่อพระ เพราะคนพูดแบบนี้เข้าสูตรที่กล่าวกันว่า

"คนทำบุญตักบาตรไม่พูด คนพูดคือคนที่ไม่ทำบุญตักบาตร"
หากว่าการที่พระไม่ทำงานในเชิงผลิตอย่างชาวนา ชาวสวน เป็นต้น คนในโลกนี้มีคน
เป็นจำนวนมากที่อาศัยชาวบ้าน เพราะเหตุเพียงไม่ทำงานในลักษณะเป็นผลิตกรรม
เช่นตำรวจ ทหาร ครู ข้าราชการเกือบจะทุกกรมกอง นอกจากรัฐวิสาหกิจบางแห่ง
เท่านั้น แต่โดยหลักความเป็นจริงแล้ว คนในสังคมนั้นจะต้องทำงานในหน้าที่แตกต่างกัน
ไม่มีใครที่อาศัยเกาะกินคนอื่น โดยส่วนเดียวนอกจากพวกที่ไม่ยอมทำงานอะไรเลย
งานของพระเป็นธรรมของสังคมที่สังคมยอมรับว่าเป็นหน้าที่ของท่าน คือ
        ทำหน้าที่ศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา
        ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธสาสนาที่ตนได้ศึกษามา
        แนะนำสั่งสอนชาวบ้านให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้นด้วย
        งานของพระที่เกี่ยวข้องกับสังคมนั้น เราจะพบว่าเป็นทั้งนักศึกษา นักบวช  แพทย์ ผู้พิพากษา ครู มิตรของสังคม
        คำกล่าวในลักษณะขาดความรับผิดชอบโดยไม่มองถึงความเป็นจริงที่เป็นกติกา
เงื่อนไขทางสังคมนั้นเกิดขึ้นเสมอเช่น
        ข้าราชการกินเงินเดือนเป็นภาษีของประชาชน ด้วยสำนึกเช่นนี้ หากราชการสำนึกเอง
ก็เป็นการดี แต่คนอื่นมากล่าวคำนี้ออกจะขาดความรับผิดชอบมากไป เพราะความจริง
แล้ว ข้าราชการไม่ได้นอนๆแล้วมารับเงินเดือน แต่เขาทำงานที่มีความรับผิดชอบต่อ
ราชการ ชาติบ้านเมือง เกินกว่าเงินเดือนที่เขาได้รับเสียอีกสำหรับบางคน
        ข้าราชการเหล่านั้นเขาก็เสียภาษีเหมือนกัน การพูดว่าพระเป็นกาฝากสังคมก็ดี เป็นผู้เกาะกินชาวบ้านก็ดีเป็นคำพูดของคนที่ไม่มีความเข้าใจเหตุผลดังกล่าวหรือกล่าว
ไปด้วยความริษยาหรืออาจจะเห็นว่าด่าพระสบายดีก็ตาม หากทบทวนดูอคติ ๔ ประการ
แล้วจะพบว่าอคติมีอยู่ภายในจิตของตนเกือบครบ ๔ ข้อทีเดียว.

๔๑.พระดีแต่เอาของชาวบ้าน ไม่ให้เขา ไม่เหมือนชาวคริสต์ที่
พระเจ้าส่งไปให้เขา และพระไทยไม่มีความรู้ สู้บาดหลวงไม่ได้
ซึ่งสามารถสอนหนังสือได้เป็นอย่างดี ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล
ได้
        ข้อนี้ไม่มีลักษณะเป็นคำถามแต่เป้นคำกล่าวหาในลักษณะที่มองในแง่ร้ายและมอง
ไม่ตลอดสาย
        ประเด็นแรกที่ว่าพระดีเอาของชาวบ้านนั้น อย่างที่เคยกล่าวมาแล้วว่าเป็นการทำงาน
กันคนละหน้าที่ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ผู้ปฏิญาณตนนับถือพระพุทธศาสนายอมรับในเงื่อนไข
เหล่านี้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหน้าที่ให้แต่ละฝ่ายปฏิบัติต่อกัน คือ
        ชาวบ้านให้แสดง เมตตาทางกาย วาจา ใจ จะทำพูดคิดเกี่ยวกับพระสงฆ์ให้ทำ
พูดคิดด้วยเมตตาเป็นที่ตั้ง บำรุงด้วยปัจจัย ๔ และยินดีต้อนรับเมื่อท่านไปหาที่บ้าน
พระภิกษุสามเณรมีหน้าที่จะต้องทำคือ สอนไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี สงเคราะห์ชาวบ้านด้วยน้ำใจอันงามให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้ว
ให้แจ่มแจ้ง บอกทางสุขทางเจริญให้ งานของพระจึงเป็นงานของผู้นำทางวิญญาณ สติปัญญา ธรรมะ แต่ในข้อที่ว่า "สงเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงามนั้น" จากอดีตถึงปัจจุบัน
เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระไม่ได้เอาแต่ของชาวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่พระได้ทำงาน
ในลักษณะที่เป็นการสงเคราะห์สังคมด้วยน้ำใจอันงามในด้านต่างๆ ที่ไม่ขัดกับสมณภาวะ
เป็นอันมาก ขอเพียงใช้เหตุผลพิจารณาก็จะเห็นและทำใจให้ยอมรับได้ไม่ยากนัก
นอกจากใจจะเอียงจนไม่อาจมองเห็นความดีของคนอื่นได้ ก็เป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้
เหมือนกัน
        สำหรับประเด็นที่ว่าไม่เหมือนชาวคริสต์ที่พระเจ้าส่งไปให้เขานั้นไม่เข้าใจว่าพูด
เรื่องอะไรกัน ถ้าจะหมายความว่าบาดหลวงในศาสนาคริสต์ช่วยคนในด้านรูปวัตถุ
พระสงฆ์ก็ทำเหมือนกันในด้านนี้ แต่ที่เราไม่ควรลืมคือ
        ระบบโครงสร้างทางศาสนาไม่เหมือนกันศาสนาคริสต์มีองค์การทำงานที่มีเงินทุน
มหาศาล แม้ในเมืองไทยก็มีที่ดินจำนวนมาก ทรัพย์อันเป็นกองทุนนี้สามารถกระจายออก
ไปเพื่อทำงานในด้านต่างๆ รายได้จากโรงพยาบาล โรงเรียน ที่ดินและผลประโยชน์ด้าน
อื่น มีมากพอที่จะทำงานแบบสงเคราะห์ทางรูปวัตถุได้ซึ่ง หากเราจะดูในจุดใดจุดหนึ่ง
จะเห็นว่าทำได้มาก
        ที่ไม่ควรลืมอีกประการหนึ่งคือเงินในลักษณะนั้น ของพระพุทธศาสนาไม่มี เพราะ
ศาสนาพุทธมีโครงสร้างอีกอย่างหนึ่ง หากพระจะจัดผลประโยชน์แบบนั้นศาสนาพุทธ
ก็ดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะความรู้สึกยอมรับฐานะของชาวพุทธกับชาวคริสต์ต่อศาสนาของ
ตนแตกต่างกัน
        งานที่ศาสนาคริสต์ทำจึงเป็นงานที่ควรอนุโมทนา แต่อย่าลืมว่าในจำนวนประชากร
ประมาณ๔๕ล้านคนนั้นนับถือศาสนาพุทธถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ แต่นับถือศาสนาคริสต์
ประมาณ๓แสนคนเท่านั้นเอง (ปี๒๕๓๔)  เคยคิดกันหรือเปล่าว่า งานที่ชาวพุทธทั้งที่
เป็นพระและฆราวาสทำต่อสังคม ในทางที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมในรูปแบบต่างๆ
นั้นมีมากมายขนาดไหน เพราะเราทำกันทุกวันและทำกันทั่วประเทศ
        บัณฑิตที่แท้จริงนั้น เมื่อยอมรับความดีของคนอื่นได้ ก็ต้องรับความดีของอีกฝ่ายหนึ่ง
ได้เช่นกัน การยกย่องหรือตำหนิใครโดยขาดข้อมูลที่ถูกต้องนั้น บัณฑิตไม่ควรทำเพราะ
จะเป็นการสร้างความผิดซ้ำซ้อนขึ้นมาในวิถีชีวิตของตนโดยไม่จำเป็น
       ประเด็นที่ว่าพระไทยไม่มีความรู้สู้บาดหลวงไม่ได้ซึ่งสามารถสอนหนังสือได้เป็น
อย่างดีนั้น เป็นลักษณะของคำกล่าวหาเช่นเดียวกับข้อก่อนๆ โดยไม่มองข้ามข้อเท็จจริง
ที่มีอยู่เป็นอยู่ ว่าที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนพระไทยนั้นมีความรู้ในเรื่องที่
บาดหลวงควรรู้สู้บาดหลวงไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าบาดหลวงก็รู้สู้พระสงฆ์ในเรื่องที่พระสงฆ์
ควรรู้ไม่ได้ การกล่าวเปรียบเทียบในลักษณะนี้เหมือนเอาความรู้ของทหารกับตำรวจมา
เปรียบเทียบกัน คนเขาเรียนมาคนละอย่างจะไปเปรียบเทียบกันได้อย่างไร
        ประเด็นของการสอนนั้น คงลืมไปว่างานให้การศึกษาแก่กุลบุตร กุลธิดานั้นทางโลก
เพิ่งนำมาจัดเองประมาณ๗๐ปีมานี้เอง เมื่อก่อนนั้นงานสอนทั้งหมดอยู่ในมือพระสงฆ์
ทั้งนั้น พระสงฆ์ในปัจจุบันนั้นสำหรับท่านที่บวชมานานพอสมควรท่านก็สามารถสั่งสอน
ได้ในขอบข่ายของลักษณะวิชาอันท่านได้ศึกษามา
        ทำไมจึงพูดว่าบวชมานานพอสมควรเล่า ?
        เพราะเมื่อรักจะพูดเรื่องพระ เราต้องยอมรับความจริงในสังคมพระก่อน ว่าพระสงฆ์
ในประเทศไทยมีโครงสร้างทางสังคมเป็นอย่างไร ไม่ใช่มาหลงเพ้อฝันด้วยตัวเลขที่สร้าง
ขึ้นหลอกและปลุกปลอบตนเองว่าพระสงฆ์ในเมืองไทยมีจำนวน๓๐๐,๐๐๐รูป ซึ่งเป็นสถิติ
ของพระในพรรษา ออกพรรษาแล้วจะเหลือถึง๒๓๐,๐๐๐รูปหรือเปล่าในจำนวนพระ
เหล่านั้น เราต้องยอมรับว่าในเมืองไทย เราใช้ระบบนำคนไม่รู้ศาสนาเข้ามาบวช
เพื่อศึกษาหลักธรรมในศาสนาซึ่งเป็นการบวชแบบระบบหมุนเวียนส่วนมากแล้ว
จะหมุนวนอยู่ระหว่าง ๗ วัน ถึง ๓ เดือน มากที่สุด
        ซึ่งเราจะหวังให้พระเหล่านี้ไปทำงานศาสนาคงเป็นไปไม่ได้ เพราะยังอยู่ในวัยที่ต้อง
ศึกษา พระประเภทนี้เรามีหมุนเวียนกันอยู่ไม่น้อยกว่า๖๕เปอร์เซ็นต์
        เมื่อเราตัดพระที่เป็นหลวงตาแก่ๆและท่านผู้เฒ่าซึ่งไม่สะดวกในการสอนหนังสือ
แต่ท่านอาจสอนด้วยการแนะนำสนทนากัน ตลอดถึงการเทศน์เป็นต้นออกไปแล้ว
เรามีพระไม่น้อยกว่า๓๐เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพระภิกษุสามเณรทั้งหมด ที่อาจทำงานใน
ด้านการสอนหนังสือตามโรงเรียนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมพระจึงไม่สอนหนังสือใน
โรงเรียนเล่า ?
        อันที่จริง พระเรานั้นอยู่ในฐานะที่พร้อมทั้งด้านความรู้ บุคคล ความตั้งใจ
ความเสียสละ แต่เพราะค่านิยมในสังคม ที่คนบางพวกคิดว่าพระไม่รู้เรื่องศาสนา แม้แต่
งานที่พระน่าจะทำ ก็จัดให้ครูที่ไม่เคยเรียนเรื่องนี้มาโดยตรง ทำหน้าที่นี้เสียเองจนบาง
ครั้ง การกำหนดหลักสูตรทางศีลธรรมของกระทรวงศึกษาธิการออกมาเชยๆ ในสายตา
นักธรรมะอยู่เสมอไป แม้ในปัจจุบันก็มีอยู่หลายเรื่องสังคมปฏิเสธพระว่าพระไม่ควรจะ
สอนหนังสือเด็ก เพราะกลัวจะคลุกคลีกับศิษย์ โดยเฉพาะที่เป็นหญิง กระทรวงศึกษาธิการ
เองเคยดำริอยู่เสมอ ในการที่จะให้พระเข้ามีบทบาทในการสอน แต่ถูกคัดค้านจากด้าน
ต่างๆและความฝังใจในอดีตของตนเลยต้องระงับไปทุกคราว
        เมื่อปิดประตูไม่ให้พระแสดงความรู้ความสามารถในด้านการสอนเสียเช่นนี้แล้วก็
มาตำนหนิว่าพระสอนไม่ได้เพราะไม่รู้ ใครไม่รู้กันแน่ ?
        แม้ว่าจะถูกปิดประตูแบบนี้ก็ตามปัจจุบันนี้พระภิกษุสงฆ์ได้สร้างงานขึ้นด้วยการเปิด
โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หน่วยพระธรรมวิทยาการโรงเรียนบาลีสามัญมี
นักเรียนในความรับผิดชอบเป็นอันมาก แต่งานพระไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์จึงไม่ค่อย
ทราบกันกว้างขวาง ทำให้คนใจบอดคอยค่อนขอดอยู่เสมอว่าพระไม่ทำงานอะไรไม่มี
ความรู้จนถึงขี้เกียจก็ขอให้เป็นสุขๆเถิดอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
        แม้ว่าพระจะไม่ได้สอนในโรงเรียนอย่างเมื่อก่อน แต่โรงเรียนที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน
นั้นไม่ว่าจะอยู่ในวัดหรือนอกวัดก็ตาม ใครจะปฏิเสธเล่าว่าพระไม่ได้มีส่วนอย่างสำคัญ
ในการสร้างขึ้นและสนับสนุนในด้านต่างๆ โรงพยาบาลก็ทำนองเดียวกันโรงพยาบาล
ของรัฐเกือบทุกแห่ง พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเข้าไปมีบทบาทร่วมในการสร้าง การบำรุงมากบ้างน้อยบ้างทั่วประเทศไทย
        อย่าลืมว่างานการสั่งสอนการรักษาพยาบาลโรคกายใจ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด
นั้นยังเป็นงานหลักของพระอยู่แม้ในปัจจุบัน งานของพระก็คืองานของพระ งานของทหาร
ก็คืองานของทหาร จะให้เหมือนกันย่อมไม่ได้ แม้งานของบาดหลวงที่ยกมาก็มีลักษณะ
เช่นเดียวกัน ขอให้ทุกคนยืนอยู่ในจุดอันเป็นความรับผิดชอบของตนเองให้ดีเถิดและ
ทุกอย่างในพระศาสนา ประเทศชาติ สังคมก็จะดีขึ้นเอง ที่เกิดยุ่งๆกันอยู่เพราะคน
ไม่ค่อยสนใจทำงานของตน แต่พยายามเกณฑ์ให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้นั่นเอง
        "หากคนมองตนให้มาก มองคนอื่นเพื่อเตือนตนพิจารณาตรวจสอบตนกันให้มาก"
อะไรๆก็จะดีขึ้นไม่น้อยทีเดียว.

๔๒.พระทำไมจึงเดินสูบบุหรี่อันเป็นของเสพติดและมีเครื่อง
บำรุงกิเลส เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ?
        เรื่องพระเดินสูบบุหรี่นั้นถือว่าเป็นมารยาทที่ไม่สมควร ท่านถือเป็นเรื่องควรตำหนิ
อันที่จริงพระอุปัชฌายะอาจารย์ ท่านก็อบรมตักเตือนสั่งสอนกันอยู่ การที่บางรูปยังมี
การประพฤติอันไม่ควรอยู่ หากเราจะมองกันด้วยเมตตาจิตและเหตุผลแล้วก็จะได้หลัก
ที่ควรสังเกตดังนี้
        ๑.พระเป็นลูกชาวบ้านที่มีพื้นฐานทางสังคมไม่ถือว่าการเดินสูบบุหรี่เป็นเรื่องเสียหาย
เป็นความเคยชินที่ติดมาจากสมัยเป็นฆารวาส ซึ่งส่วนมากพระที่ติดบุหรี่จะติดมาก่อน
บวช ท่านบวชมาไม่นาน ย่อมไม่อาจละความเคยชินเช่นนั้นได้ เพราะศาสนาไม่ใช่บ่อ
ทองที่พอคนลงไปในบ่อแล้วจะกลายเป็นทองไปทันที อย่างพระสังข์ทองแต่เป็นเรื่องที่ ค่อยๆขัดเกลากันไปจะทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความหยาบ ประณีตของนิสัย
ของแต่ละรูป
        ๒.ทางศาสนาเองไม่อาจจะสงเคราะห์เข้าในพระวินัยข้อใดข้อหนึ่งตามที่ทรงบัญญัติ
ไว้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ หากจะจัดก็จัดเข้าในข้อว่าด้วย สุราเมรัย แต่โทษ
ของบุหรี่ไม่ถึงกับเมรัย ซึ่งเป็นข้อห้ามขั้นต่ำสุดในด้านยาเสพติด ผิดกับยาเสพติดประเภท
อื่น เช่น เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา ซึ่งมีโทษมากกว่าเมรัย สุรา ท่านก็ห้ามไม่ได้เลย
        เมื่อเป็นเช่นนี้การรู้จักสำรวมระวังเป็นหน้าที่ของพระ การมองด้วยความเมตตาและ
เข้าใจในเหตุผลจึงเป็นเรื่องที่คนทั้งหลายควรมี
        ส่วนวิทยุและโทรทัศน์เป็นต้นนั้น เป็นปัญหาทางพระวินัยที่พระจะต้องสำรวมระวัง
เอาเอง การมีไว้ในครอบครองไม่ถือว่าเป็นความผิดเพราะหลักความจริงแล้ววิทยุ
โทรทัศน์เป็นสื่อสารมวลชนที่มีประโยชน์มาก การฟังการดูของพระเป็นเรื่องที่ท่าน
ต้องวินิจฉัยเอาเองว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ท่านขืนดูขืนฟังในเรื่องที่ขัดกับพระวินัย
ท่านก็ต้องอาบัติเหมือนกับพระเดินไปบนถนน ผ่านสถานที่เป็นอันมาก ท่านต้องเลือก
เอาเองว่าสถานที่ใดเข้าไปแล้วผิดพระวินัยหรือไม่ผิดพระวินัย การจะห้ามมิให้พระ
ออกไปนอกถนนเพราะถือว่ามีสถานที่ไม่เหมาะสมมาก ทำไม่ได้ฉันใดการห้ามพระไม่
ให้มีวิทยุอันเป็นสื่อให้เกิดความรู้หรือเกิดบาปก็ได้ จึงไม่อาจทำได้ฉันนั้นตามหลักพระ
วินัยแล้ว
        "การดูการฟังอย่างไร มีความสำคัญกว่าการดูการฟังอะไร"
       อันวิสัยของบันฑิตนั้นอาจมองสาวๆกำลังนอนหลับให้เป็นซากศพไปได้แต่พาลชน
อาจมองซากศพเป็นสาวๆไปได้เช่นเดียวกัน
        สมณสัญญาคือการระลึกว่าตนเป็นสมณะแล้วปฏิบัติกระทำไปในทางที่เหมาะสมแก่
สมณภาวะ เป็นภาวะที่ภิกษุผู้บวชมาจะต้องตระหนักและใช้โยนิโสมนสิการด้วยตนเอง
นี้เป็นกรณียกิจของนักบวชในศาสนาต่างๆ