๙.พระพุทธศาสนาห้ามฆ่าสัตว์ทำไมจึงอนุญาตให้กินเนื้อสัตว์?
        นั่นน่ะซีน่าคิดเหมือนกันนะข้อที่น่าคิดนี้แหละจึงควรคิดไปตามลำดับคืออย่างไร?
คือ "การตัดสินว่าบาปหรือบุญในพุทธศาสนานั้นท่านกำหนดด้วยเจตนาเป็นสำคัญ"
"เจตนากินกับเจตนาฆ่าคนละเจตนากัน"
เรื่องนี้เห็นจะต้องพูดกันมากหน่อย จึงขอยึดหลักไว้ก่อนเรื่องปรากฏในพาโลวาทชาดก ทุกนิบาต ความย่อว่าพระโพธิสัตว์บวชเป็นดาบส คฤหบดีคนหนึ่งต้องการจะแกล้งท่าน
จึงนิมนต์มาฉันที่บ้านด้วยอาหารที่เป็นปลาและเนื้อเมื่อดาบสฉันเสร็จแล้วคฤหบดีกล่าวว่า
หนตวา ฆตวา วธิตวา จ  เทติ ทาน อสญญโต
อีทิส  ภตต ภุญชมาโน    ส ปาปมุปลิมปติ
บุคคลผู้ไม่สำรวม ประหาร ทรมาน ฆ่าสัตว์ให้ตายแล้วย่อมให้ทาน ผู้บริโภคภัตรเช่นนี้ต้องติดบาปพระดาบสโพธิสัตว์ตอบว่า
ปุตตทารมปิ เจ หนตวา  เทติ ทาน อสญญโต
ภุญชมาโนปิ  สปุปญโณ  น ปาปมุปลิมปติ
บุคคลผู้ไม่สำรวมแม้จักฆ่าบุตรและภรรยาให้ทานผู้มีปัญญา
แม้บริโภคย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยบาป
        ทำไมจึงพูดว่า เจตนากิน กับเจตนาฆ่าเป็นคนละเจตนากันเล่า? เพราะความจริงเป็น
เช่นนั้นคนกินนั้นไม่มีเจตนาเกี่ยวข้องกับการฆ่าแต่ประการใด ถ้าคนกินเนื้อสัตว์เพียง
อย่างเดียวเป็นบาป ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็ดีพระอรหันต์ก็ดี ทรงเสวยและฉันอาหาร
ที่ทายกบริจาคถวายก็ต้องเป็นบาปด้วย เมื่อเป็นบาปด้วยก็เป็นการปฏิเสธว่าพระพุทธ
เจ้ายังไม่ละบุญและบาปได้แล้วตามที่ท่านกล่าวว่า "ปุญญปาปปหีโน คือมีบุญและบาป
อันละได้แล้ว"
        พระพุทธเจ้าทรงเสวยเนื้อหรือไม่?
        ตามพระวินัยปิฏกบอกไว้ชัดเจนว่าทรงเสวยเนื้อเช่นเดียวกัน เพราะทรงดำรงชีวิต
ด้วยอาหารที่ทายกเขาถวายตามที่เขามีอยู่ บริโภคกันอยู่และโภชนะอันประณีตก็ทรง
แสดงว่าได้แก่ "เนยใส่ เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม"
เพราะเจตนากินไม่เป็นบาป การบริโภคเนื้อสัตว์จึงไม่ถูกห้ามไว้สำหรับคนทั่วไป
        ทำไมจึงพูดว่าสำหรับคนทั่วไป?
        เพราะว่าในการบริโภคเนื้อสัตว์ของภิกษุสามเณรนั้น ทรงกำหนดไว้อีกอย่างหนึ่ง
ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับการฆ่าสัตว์นั้นๆมาบริโภค โดย
กำหนดเป็นขั้นตอนไปดังนี้
        -การบริโภคอาหารทุกชนิดต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อน
        -เนื้อบางชนิด เช่น เนื้อคน เนื้อม้า เนื้อช้าง เนื้องู เนื้อเสือ เป็นต้นห้ามฉัน
        -ห้ามมิให้ฉันเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ตนเห็นได้ยินหรือสงสัยว่าเขาฆ่าเนื้อนั้นเจาะจง
ถวายให้ตนฉัน
        -กรณีที่ต้องฉันอาหารที่เป็นเนื้อไม่ให้ฉันด้วยตัณหา คืออยากกินแต่ให้กำหนดว่าตน
จำเป็นต้องฉันเนื้อเหล่านั้น เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้เหมือนพ่อ
ที่จำเป็นต้องกินเนื้อบุตรที่ตายในทะเลทราย เพื่อให้ชีวิตของตนรอดไปจากทะเลทราย
        สำหรับผู้ฆ่าสัตว์นั้นเจตนาประกอบด้วยกิเลสไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งคือ
        ถ้าเป็นการฆ่าเพื่อกินหรือเพื่อขายเจตนานั้นประกอบด้วยความโลภ
        หากฆ่าเพื่อต้องการให้ตายเห็นได้ชัดว่าฆ่าด้วยความโกรธ
        หากเป็นการเบียดเบียนสัตว์ บี้มด เรือด ตบยุงเล่น เป็นต้นเจตนาประกอบด้วยโมหะ
        ส่วนเจตนากินล้วนๆนั้นไม่ประกอบด้วยกิเลสเหล่านั้น แต่หากเป็นความอยากกิน
ก็ต้องเป็นโลภเจตนาหรือเป็นการบริโภคด้วยตัณหา
        ข้อนี้สำหรับชาวบ้าน สามเณร ไม่ถือว่าเป็นความผิดสำหรับพระภิกษุแล้วไม่ผิด
ปาติโมกข์ศีล คือศีลที่มาในพระปาติโมกข์โดยตรงแต่เป็นการผิดในระดับของปาริสุทธิศีล
๔ อยู่ ๒ข้อ คือ
        -อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์๖คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย
ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องเย็นร้อน อ่อนแข็งและรูปธรรมารมณ์
ด้วยใจ
        -ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนแล้วจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา

๑๐.ฆ่าสัตว์เอามาทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงคน จะผิดหรือไม่?
        เรื่องนี้เป็นเรื่องต่างกรรมต่างเจตนากันคือ การฆ่าสัตว์ประกอบด้วยมรณเจตนา หรือวธกเจตนาแปลว่าเจตนาให้ตายหรือเจตนาจะฆ่าเพื่อกินเจตนาจึงประกอบด้วย
ความโลภเมื่อฆ่าลงไปก็ต้องเป็นบาปและผิดศีล
        การเลี้ยงพระเลี้ยงคนเจตนาประกอบด้วยจาคเจตนาคือเจตนาบริจาคบ้างศรัทธา
บ้าง เมตตากรุณาเป็นต้นบ้าง การกระทำของเขาจึงเป็นบุญเพราะมีลักษณะขจัดความ
โลภความเห็นแก่ตัวความตระหนี่ให้ออกไปจากจิต หลังจากไปแล้วก็ได้รับความสุขใจ
        แต่ให้กำหนดว่าในชีวิตของคนเรานั้นมักจะเจอปัญหาเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาซึ่งแน่นอน
บางครั้งคนก็ต้องยอมเสียสละต้องกระทำบางอย่างลงไปเช่น
        "ลูกร้องไห้อยากกินไข่ต้ม ถ้าแม่กลัวบาปก็ต้องทนเห็นลูกร้องไห้เอา ถ้าไม่ต้องการให้
ลูกร้องไห้ ก็ต้องยอมทำบาปเอา ซึ่งมีทางเลือกได้ทางเดียวเท่านั้น แล้วแต่ใครจะเลือก
อะไร"
       แต่ในคำถามที่ถามนั้น หากเราจะเลี่ยงไม่ยอมทำบาปด้วยการฆ่าสัตว์ เราสามารถ
เลี้ยงพระ เลี้ยงคน เลี้ยงตนเองได้ไม่ยากนักมิใช่หรือ?

๑๑.เพชฌฆาตประหารชีวิตนักโทษตามหน้าที่ก่อนประหารก็ให้
อโหสิกรรมแก่กัน อย่างนี้จะมีผลกรรมหรือไม่ จะบาปหรือไม่?
        มีทั้งสองอย่างนั่นแหละแต่ให้สังเกตุว่าเพชฌฆาตนั้นทำงานไปตามหน้าที่ของตน
ไม่มีความรู้สึกอาฆาตแค้นกันเป็นการส่วนตัวองค์ประกอบแห่งการตัดสินบาปกรรม
จึงอ่อนทุกอย่างคือ
        -เจตนา เป็นการเจตนาที่เกิดขึ้นว่านี่เป็นเพียงงานในหน้าที่อันตนต้องกระทำ
ตามหน้าที่
        -วัตถุ นักโทษขนาดถูกประหารนั้นแสดงว่าต้องทำความผิดไว้มากคุณความดีจึง
มีน้อย
        -ความพยายาม คือการฆ่าให้ตายนั้นไม่มากเพียงแต่เหนี่ยวไกกดแบล็คมัน ปุ
ปุ ปุ ไม่กี่ครั้งนักโทษก็ตาย
        แต่อย่างไรเขาก็เป็นคนมีชีวิต การฆ่าคนสัตว์มีชีวิตให้ตายจึงเป็นบาปกรรมที่ผู้ฆ่า
จะต้องได้รับผลถึงแม้ จะไม่มากแบบฆ่าพ่อแม่ก็ตามผลแห่งบาปกรรมก็ต้องมีเป็น
ธรรมดา
        เรื่องนี้เคยสอบถามเพชฌฆาตที่บางขวางมาเหมือนกันว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร
ในขณะรัวปืนยิงนักโทษเช่นนั้น?
        เขาบอกว่าก่อนจะมาเป็นเพชฌฆาตนั้น เขาได้รับการฝึกในด้านจิตใจมาจนขนาด
เดินเหยียบของร้อนๆไม่รู้สึก ในขณะยิงจึงมีความรู้สึกเพียงว่าเป็นงานที่ต้องทำเท่านั้น
เมื่อทำเสร็จก็ถือว่าเสร็จแล้วไม่เคยนำมาคิดเลย นักโทษประหารเขามีหลักสำหรับยืนนะ
คนยิงมีหน้าที่ยิงเท่านั้นไม่ได้เห็นตัวนักโทษตลอดรายการ คนตรวจสอบก็เป็นอีกคนหนึ่ง
คนเก็บศพก็เป็นอีกคนหนึ่ง คนที่เป็นเพชฌฆาตเมื่อเสร็จงานก็กลับจากที่นั้นองค์ประกอบ
ต่างๆจึงอ่อนดังกล่าว แต่ข้ออ้างเพื่อไม่ต้องเป็นบาปไม่มีสำหรับคนที่ฆ่าสัตว์อื่นที่ตน
มีเจตนาร่วม เหมือนข้ออ้างสำหรับการทำผิดกฎหมายไม่มีสำหรับผู้กระทำผิดกฎหมาย
ฉะนั้น
        รู้อย่างนี้แล้วอย่างไรๆก็อย่าไปสมัครเป็นเพชฌฆาตเข้าเชียวหากินทางอื่นดีกว่า

๑๒.การพูดปดบางครั้งก็จำเป็นเช่นในทางที่จะทำประโยชน์ให้
แก่ชาติบ้านเมืองหรือในกรณีอื่นใดที่เป็นประโยชน์ เมื่อพระ
พุทธศาสนาห้ามพูดปดจะมิขัดกันหรือ?
        ก็ขัดกันนะซีแต่ที่สำคัญคือคนจะทำประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองต้องทำการ
พูดปดหรือ? แปลกดีเหมือนกันคนเราเริ่มมาถึงก็ขาดความจริงใจเสียแล้วคนอย่างนี้หรือ
จะมีหน้ามาพูดว่าทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
        คนประเภทนี้กระมังที่หนังสือพิมพ์เรียกว่านักการเมืองน้ำเน่า?
        ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่เราจะทำประโยชน์ด้วยการพูดปดอย่างบางกรณี เช่น
       "เราบอกคนกลัวเข็มฉีดยาว่าให้ฉีดเถิดไม่เจ็บเท่าไรหรอกหรือบอกว่าเจ็บเพียง
เล็กน้อยเท่านั้นก็ไม่เป็นการพูดปดอะไร อย่าไปบอกเขาว่าไม่รู้สึกเจ็บเลยก็แล้วกัน"
        เรื่องการพูดนั้นท่านให้ยึดหลักว่า "เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง เป็นธรรม มีประโยชน์ พูดถูกแก่กาล คนฟังอาจจะชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตามหากหลัก ๔ ประการไม่เสีย
ก็ให้พูดได้"
        สมมติว่า เรื่องที่เป็นประโยชน์นั้น จำเป็นจะต้องโกหกจริงๆมีอยู่เช่น หลอกคนป่วย
ให้กินกล้วยใส่ยาขมไว้ข้างในเป็นต้นท่านไม่ถือว่าเป็นบาปมากมายอะไร เพราะการพูด
ปดที่เป็นอันตรายและมีโทษมากนั้น ท่านกำหนดเอาที่ผลอันเกิดขึ้นจากการพูดปดเป็น
การทำลายประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นฯสำคัญ
        แต่โดยทั่วไปแล้วการพูดปดโดยอ้างอย่างที่ถามมานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก
โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติซึ่งมีภาษาที่ใช้กันอีก
ประเภทหนึ่งเรียกว่าสำนวนทางการทูตซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ภาษาก็ไม่อาจจัดว่าเป็น
เรื่องโกหกตามความหมายของศีล
        เรื่องนี้พระอาจารย์ได้เล่าตัวอย่างแห่งการเลี่ยงไม่กล่าวคำเท็จว่าสมมติว่าพระ ก.เห็น
คนร้ายวิ่งหนีตำรวจไปจึงขยับไปยืนเสียในที่แห่งหนึ่งเมื่อตำรวจถามว่า
        ท่านยืนตรงนี้เห็นคนร้ายผ่านมาทางนี้ไหม?
        ตอบว่าอาตมายืนตรงนี้ไม่เห็นเพราะตอนที่ท่านเห็นนั้นท่านยืนอยู่อีกที่หนึ่ง
         เรื่องนี้ไม่ควรถือเอาเป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติมากนักเพราะตามหลักความเป็นจริง
แล้วคนเราย่อมมีอำนาจเหนือตนเองที่จะพูดหรือไม่พูดอะไรก็ได้ วิจารณญาณในการพูด
จึงควรจะเป็นการตัดสินด้วยเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยตนเอง หากเกิดความจำเป็น
จะต้องเลือกระหว่างการขาดศีลกับสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ หากจะมีก็ต้องตัดสินเลือกเอา
อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะเอาทีเดียวสองอย่าง ย่อมไม่อาจเป็นไปได้

๑๓.การดื่มสุราก็เช่นเดียวกันบางครั้งก็จำเป็นต้องดื่มเพื่อสังคม
ถ้าเราไม่ดื่มก็เข้ากับเขาไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไรดื่ม
เมานอนเสียจะบาปหรือไม่?
        ตามหลักความเป็นจริงแล้วการกล่าวอ้างบุคคลสังคมว่าที่ตนต้องกระทำไปเช่นนั้น
เพราะสังคมเพราะคนนั้นคนนี้เป็นต้น พระสารีบุตรเถระได้กล่าวแก่ธนัญชานิพราหมณ์
ผู้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่แต่ฉ้อหลวงบังราษฎร์ แล้วอ้างว่าตนทำเพื่อพ่อแม่ บุตรภรรยา
เป็นต้นความว่า
        คนที่ทำความผิดแล้วอ้างว่าทำเพื่อใครก็ตามเวลาตายไปจะบอกนาย
นิรยบาลเขาได้ไหมว่าที่ตนทำผิดไปเพราะต้องทำเพื่อคนอื่นขออย่าได้ถือเป็น
ความผิดเลย
       หรือคนที่เราอ้างว่าเราทำความผิดไปเพื่อพวกเขาจะไปขอร้องต่อ
ยมบาลว่าขออย่าได้ลงโทษเขาเลย คนๆนี้ต้องทำความผิดเพื่อพวกตน
ซึ่งปรากฏว่าไม่มีข้ออ้างเพื่อไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดไม่ว่าจะเพื่อ
ใครโดยใครก็ตาม"
        "นี่คือหลักสากลแม้ในด้านกฎหมายก็มีลักษณะเดียวกัน"
     ในกรณีของการกล่าวว่าตนจำเป็นต้องดื่มสุราเพื่อสังคมซึ่งมีคนกล่าวอ้างกันเป็นอัน
มากนั้นมีหลักในการพิจารณาเช่นเดียวกับที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ แต่ในกรณีของการดำรง
ชีวิตแบบชาวบ้านนั้นเราจำเป็นต้องมองปัญหาตามที่มีอยู่เป็นอยู่ในสังคมว่าข้อเท็จจริง
ในสังคมเป็นอย่างไร?
        การดำรงชีวิตของคนในโลกนั้นเมื่อจำแนกออกจะได้เป็นกลุ่มๆจะได้ ๓ กลุ่ม
ใหญ่ๆคือ
        ๑.ถือเอาความคิดเห็นของตนเป็นประมาณในการตัดสินปัญหา การแก้ปัญหา
การทำงาน เป็นต้นซึ่งออกจะเป็นการเสี่ยงมากอยู่
        ๒.ถือเอาความคิดเห็นของสังคมคือคล้อยตามความเคลื่อนไหวของสังคม ค่านิยม
ของสังคม ปัญหาในเรื่องนี้ตัวกำหนดความถูกผิดจึงอยู่ที่สังคมว่า สังคมที่เราเคลื่อนไหว
ไปตามนั้น เป็นสังคมประเภทใด?
        ๓.ถือเหตุผลความถูกต้อง ตามหลักธรรม กฎหมาย จารีตประเพณี เป็นมาตรฐานใน
การดำรงชีวิตซึ่งเป็นเหมือนการขับรถไปตามกฎจราจร อันตรายไม่อาจเกิดขึ้นได้ตราบ
เท่าที่เขายังยึดมั่นในหลักการอันถูกต้องนั้นๆอยู่
หลักในการดำรงชีวิต ๓ ระดับนี้ สำหรับบัณฑิตแล้วแม้การถือความคิดเห็นของตนเอง
หรือสังคมเป็นหลักในบางกรณีก็ตาม แต่ความคิดเห็นของตนและสังคมนั้นจะต้องยุติด้วย
เหตุผลและความถูกตรงนัยที่ ๓ ตลอดไป
        เพราะว่าถ้าคนจะยึดถือสังคมเป็นประมาณแล้วหากเป็นสังคมของคนดีก็ดีไปหาก
สังคมของคนพาลเล่าจะทำอย่างไรกัน?
       คนเราจะต้องอ้างว่าตนต้องคอรัปชั่นเพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็อยู่ร่วมกับพวกคอรัปชั่น
ไม่ได้ ต้องขโมยต้องเล่นการพนันต้องหมกมุ่นในอบายมุขเป็นต้น เพื่อต้องการสถานะคือ
การยอมรับของสังคมอยู่ตลอดไป ทำให้เป็นคนขาดหลักการดำรงชีวิตกลายเป็นท่อน
ไม้ลอยน้ำจนกว่าจะเน่าเปื่อยผุพังไปอย่างนี้จะไหวหรือ
        การดื่มเหล้าเพื่อให้ตนสามารถเข้าสังคมได้สังคมอะไรก็คือสังคมคอสุราก็มีลักษณะ
อย่างนั้น ย่อมไม่พ้นการประพฤติผิดศีลไปได้ ผู้มีปัญญาจะต้องเลือกเอาระหว่าง
"ฐานะของผู้มีศีลกับไร้ศีล" จะเลือกเอาสองอย่างในขณะเดียวกันไม่ได้แม้จะดื่มแล้ว
นอนหลับไปก็ย่อมได้รับโทษจากสุราที่ดื่มเช่น
        "เสียทรัพย์ ทอนกำลังปัญญา ขาดความละอาย ไม่รักครอบครัว"
เป็นต้น หากจะทำอะไรผิดเพราะความเมาสุราเป็นเหตุความผิดก็เพิ่มขึ้นตามสมควร
แก่เหตุ คนจึงไม่ควรสร้างความเคยชินในการกระทำบาปและไม่ควรดูหมิ่นว่าเป็นเรื่อง
เล็กเพราะทุกอย่างเริ่มจากน้อยไปหามากทั้งนั้น.