๓๔.การสอนให้คนสันโดษยินดีตามมีตามได้ จะมิเป็นการปล่อย
ชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม และทำให้ล้าหลังหรือ?
        ไม่เป็นอย่างนั้นหรอกใครบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้นละ? เรื่องนี้น่าเห็นใจเหมือนกัน
เพราะคนเราส่วนมาก มักจะอธิบายในสิ่งที่ตนรู้เกินจากขอบข่ายความรู้ของตน ความ
สับสนในการทำความเข้าใจก็เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เรื่องสันโดษพูดกันจนเป็นภาษาไทย
โดยไม่ได้ตามไปดูว่าคำนี้ความหมายของพระศาสนาท่านอธิบายไว้อย่างไร ในเมื่อต้อง
การจะพูดในความหมายของศาสนา ก่อนอื่นได้โปรดทำความเข้าใจว่าพระพุทธศาสนา
มีคำสอนระดับสำหรับตัดสินพระธรรมวินัยอยู่สองข้อที่คนฟังมักจะตีความสับสนกันคือ
   ๑.ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากอันน้อยหาเป็นไปเพื่อความอยากมากไม่
  ๒.ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความสันโดษหาเป็นไปเพื่อความไม่สันโดษไม่
        พึงทราบว่านี่เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาจะพบว่าหลักตัดสิน
ว่าคำสอนเรื่องอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่นั้น ทรงประทานหลักสำหรับ
ตัดสินไว้ ๘ข้อ ใน๘ข้อนั้น ๒ข้อ นี้เป็นหลักสำหรับตัดสินว่าคำสอนในลักษณะที่เป็นเช่นไร
จึงจัดว่าเป็นธรรมวินัยเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
        "สันโดษคือความยินดีตามดีตามได้กับความปรารถนาน้อยเป็นคำสอนคนละเรื่องกัน"
แม้ในกถาวัตถุคือถ้อยคำที่ควรพูด
        ๑๐ประการพระผู้มีประภาคเจ้าตรัสแสดงแยกถ้อยคำสอนเรื่องนี้ออกเป็นเรื่องละ
ฝ่ายกัน คือ
        อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย
        สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
        ความปรารถนาน้อยเป็นคำสอนสำหรับพระโดยเฉพาะ แต่สันโดษเป็นคำสอนทั้งแก่
พระและชาวบ้านโดยมีการอธิบายความหมายออกไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจไม่สับสนใน
ทางความคิด ความเข้าใจ และการปฏิบัติ แต่โดยทั่วไปคนเข้าใจสันโดษไปในทำนอง
ของคำกล่าวที่ว่า
        "ตำข้าวสารพอกรอกหม้อ"การหลีกเร้นออกจากหมู่หาความสงบไม่เกี่ยวข้องกับสังคม
ว่าเป็นลักษณะของคน เกียจคร้าน ปวิเวก คือการแสวงหาที่สงัด  และอสังสัคคะ  คือ
การไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะตามลำดับ  ว่าเป็นลักษณะของคนสันโดษ
        เมื่อบุคคลเข้าใจยอมรับความหมายของสันโดษในลักษณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ
ที่ทีคำถามข้างต้นเกิดขึ้น
        สันโดษคือความยินดีในปัจจัยตามมีตามได้นั้น ท่านจำแนกอธิบายไว้ว่าอย่างไร ?
        สันโดษเป็นมงคลชีวิตประการหนึ่งในมงคล ๓๘ประการ ซึ่งเป็นหลักการ
เหมือนขั้นบันไดที่จะนำคนผู้ปฏิบัติ ให้สามารถยกระดับจิตของตนให้สูงขึ้นๆถึงเหนือ
กระแสแห่งโลก ท่านได้จำแนกสันโดษออกไปเป็น ๓ ลักษณะ คือ
        -ในด้านแสวงหาเนื่องจากชาวบ้านนั้นมีธรรมคือ สัมมาอาชีวะซึ่งตรงกันข้ามกับศีลข้อ
ที่สองและความสุขอันเกิดขึ้นจากการทำงานที่ปราศจากโทษเป็นหลักและเป้าหมาย
ควบคุมอยู่แล้ว แสดงว่าการแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีวิตของบุคคลจะต้องอยู่ในกรอบ
ของสัมมาชีพสันโดษ ในชั้นนี้จึงให้คนทุ่มเทกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความคิด บริวาร ลงไปในการแสวงหาปัจจัยได้อย่างเต็มที่ด้วยความเพียรพยายาม ไม่เกียจคร้าน ไม่ขูดรีด
ทรัพย์เรี่ยวแรงของคนอื่นท่านเรียกว่า ยถาพลสันโดษคือยินดีด้วยกำลังของตน
        -ในขั้นได้ทรัพย์สมบัติปัจจัยต่างๆมาด้วยความพยายาม ตามกำลังกาย ความรู้ กำลังทรัพย์ บริวารเป็นต้น ได้มาเท่าไรก็ให้ยินดีเท่านั้นไม่โลภอยากได้ของๆ คนอื่นมา
ไว้ในครอบครองของตน โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม เมื่อใช้กำลังดังกล่าว
แล้วจะได้มากเท่าไรก็ไม่ถือว่าเป็นการเสียสันโดษ ท่านเรียกสันโดษระดับนี้ว่า
ยถาลาภสันโดษคือยินดีตามที่ได้มาจะมากหรือน้อยก็ยินดีตามนั้น
        -ในขั้นการใช้จ่าย การใช้สอย ท่านยินดีตามสมควรแก้ ฐานะ ปัจจัย ทรัพย์ สำหรับชาวบ้านคือหลักสมชีวิต คือ เลี้ยงชีวิตพอสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ตนได้มา
และมีอยู่ไม่ให้เดือดร้อนเพราะความตระหนี่และสุรุ่ยสุร่ายจนเกินพอดีสันโดษระดับ
นี้ท่านเรียกว่ายถาสารุปปสันโดษ คือยินดีตามสมควรแก่ทรัพย์ ฐานะ ความจำ
เป็น ปัจจัย เป็นต้น
        ด้วยความหมายของสันโดษที่กล่าวมานี้จะพบว่าการสอนและการปฏิบัติตามสันโดษ
คือมีความยินดีตามสมควรแก่ฐานะนั้นๆ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบปลูกฝังให้
เกิดภายในจิตใจของคนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
        "คนที่มีขอบข่ายความรับผิดชอบด้านการเงิน การงาน บุคคล เป็นต้นมากๆ"
        ความล้าหลังที่เกิดขึ้นในสังคมหากจะถือว่ามีอยู่แล้ว ได้โปรดเข้าใจว่าหาใช่เป็นคนใน
สังคมต่างมีสันโดษกันไม่ ที่แท้แล้วเป็นเพราะคนขาดแคลนสันโดษอย่างแรงนั่นเอง
สภาพเช่นนั้นจึงได้เกิดขึ้น.

๓๕.พระไม่ควรสอนเรื่องสันโดษเพราะทำให้ประเทศชาติไม่
ก้าวหน้าจริงหรือไม่?
       ไม่จริงหรอกการกล่าวเช่นนั้นเป็นการกล่าวหาหรือกล่าวตามเขาทั้งๆที่ตนเองก็ไม่
ทราบว่าคำว่าสันโดษๆนั้นฉันใด?
        เราจะพบว่าสันโดษจากความหมายที่ท่านอธิบายไว้นั้นมีส่วนอย่างสำคัญที่จะผลักดัน
ให้ประเทศชาติก้าวหน้า พร้อมด้วยพัฒนาการในด้านต่างๆอย่างมีสัดส่วนและเกิดความ
เป็นธรรมในสังคมและประเทศชาติ ตัวอย่างเช่น
        รัฐมีงบประมาณสร้างถนน ๑ สายราคา๑๐๐ล้านบาทเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินงานมีความ
สันโดษด้วยกำลังของตนยินดีในเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ที่ตนจะต้องได้อย่างถูกต้องตามกฏ
หมายเท่านั้นไม่มีความต้องการนอกจากนั้นผลจะออกมาเป็นอย่างไร?
        ถนนนั้นจะเป็นถนนที่มีคุณภาพในด้านคงทนรับน้ำหนัก สูง สำเร็จได้ตามเวลา
โครงการ หากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างถนนสายนั้นขาดสันโดษ ใครๆก็มองเห็น
ภาพเหล่านั้นได้ง่ายว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเรื่องนี้เคยเกิดมาแล้วกำลังเกิดอยู่และจัก
เกิดต่อๆไปจนกว่าคนเหล่านั้นจะเข้าถึงธรรมคือสันโดษ