๒๐.พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดถือสิ่งทั้งปวงถ้าเรานับถือ
ศาสนาเช่นศาสนาพุทธอย่างนี้จะมิเป็นการขัดแย้งกับคำสอน
ดังกล่าวหรือ?
        ไม่เห็นขัดแย้งอะไรกันนี่อันที่จริงการนับถือพระพุทธศาสนาหรือศาสนาอะไรก็ตาม
เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของบุคคล เพราะคนเราไม่มีใครที่จะรู้อะไรไปทุกอย่าง
โดยไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนได้ การนับถือพระพุทธศาสนาก็เพื่อศึกษาให้รู้และปฎิบัติ
ให้ถูกต้องตามเหตุผลที่ทางศาสนาได้จำแนกแสดงไว้
        การยึดหลักของพระศาสนาจึงเป็นเหมือนนักเรียนผู้เริ่มฝึกเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ จำเป็นต้องอาศัยไม้บรรทัดการสะกดอักษรกันไปตามหลักเกณฑ์ที่ท่านแสดงไว้แต่เมื่อ
เกิดความชำนิชำนาญดีแล้วความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้นก็หมดไปคือ การเขียน การอ่าน การทำความเข้าใจก็เป็นไปโดยอัตโนมัต
        การปฏิบัติธรรมอันเกิดขึ้นจากการศึกษาสดับฟังทางพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน
ในขั้นแรกจำเป็นจะต้องยึดหลักตามที่ท่านสอนไว้ เมื่อถึงจุดหนึ่งท่านจะถ่ายถอนความ
ยึดติดในรูปแบบต่างๆได้ จิตของท่านจะมีปฏิกิริยาต่ออารมณ์หรือสิ่งเร้าทั้งหลายเอง
โดยอัตโนมัติ
        การสอนสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นเรื่องของสัจธรรมอันบุคคลจะเข้าถึง
ได้ไม่ง่ายนักเพราะคนจะมีความรู้สึกว่า
       "นั้นเป็นของเราเช่นตัวเรา ญาติเรา น้องเรา ทรัพย์สมบัติของเรา เราเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นเราเป็นนายทหาร เป็นข้าราชการเป็นต้น หรืออาจยึดถือว่านั่นเป็นตัวเป็นตน
จนเกิดการแบ่งแยก เป็นเราเป็นเขา เป็นพวกเป็นหมู่กัน"
        เรื่องการยึดถือในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ถ่ายถอนได้ยากมาก เครื่องมือที่จะนำไปสู่การ
ถ่ายถอนความยึดถือในลักษณะที่หลงผิดดังกล่าวได้อย่างแท้จริง ก็ต้องอาศัยหลักศาสนา
ที่ตนได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติตามเท่านั้น
        ดังนั้นการนับถือพระพุทธศาสนาจึงเป็นเหตุให้คนเข้าถึงความจริงโดยการถ่ายถอน
อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ความปล่อยวางจึงเป็นผลที่เกิดจากการ
ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ทั้งสองจึงเป็นเหตุเป็นผลกัน เป็นปัจจัยของกันและกัน
ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าถึงให้ได้ทั้งสองระดับจึงจะได้ประโยชน์จากพระศาสนาอย่างแท้จริง
        พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าธรรมที่ทรงแสดงนั้นเปรียบเหมือน แพ ทุ่น หรือยานพาหนะที่คนต้องอาศัยข้ามฟาก แน่นอนว่าตราบใดที่คนเหล่านั้นยังเดินทาง
จากฟากหนึ่งไปสู่ฟากหนึ่งนั้น เขาต้องมียานพาหนะสำหรับอาศัยและต้องยึดถือพาหนะ
เหล่านั้นเป็นที่พึ่งแต่เมื่อเขาถึงฝังแล้วเขาต้องละพาหนะเหล่านั้นเพื่อขึ้นฝั่งซึ่งเมื่อถึงช่วงนั้น
เขาจะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือจะขึ้นฝั่งหรือว่าจะอยู่ในพาหนะที่อาศัย
มาแต่จะขึ้นฝั่งพร้อมด้วยแบกเรือไปด้วยไม่ได้
        เพราะเหตุนี้พระอริยบุคคลทั้งหลายท่านจึงมีศีลมีธรรม แต่ท่านไม่ยึดถือในสิ่งเหล่า
นั้นเช่นศีลของท่าน ก็ไม่ต้องระมัดระวังสำรวมระวังอะไรอย่างที่คนทั่วไปเขาทำกัน
เพราะศีลของท่านมีสมบูรณ์จนไม่ต้องสำรวมระวังอย่างคนที่ศีลยังไม่สมบูรณ์ต้องคอย
สำรวมระวังสมาทานแสดงอาบัติกันอยู่ ศีลของพระอริยบุคคลจึงมีลักษณะที่เป็นไปเอง
โดยอัตโนมัติ
        อันที่จริงเรื่องการเข้าถึงความจริงสองระดับนี้ ระดับการปล่อยวางความยึดถือเป็น
ปหาตัพพธรรมคือธรรมที่ต้องละ แต่การนับถือพระพุทธศาสนาเป็นภาเวตัพพธรรมคือ
ธรรมที่ต้องสร้างให้มีให้เป็นขึ้นในชีวิตจิตใจของตน หากคนเข้าถึงธรรมสองฝ่ายนี้ตาม
สมควรแก่ธรรมแล้วย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงปัญหาเรื่องยึดถืออะไรไม่ยึดถืออะไรก็จะหมดไป
        การรู้ธรรมสองฝ่ายนี้จัดเป็นความรู้อริยสัจ ๔ อย่างไร?
        การเห็นความทุกข์ความเดือดร้อนในระดับต่างๆอันเกิดชึ้นจากความยึดถือในสิ่ง
ทั้งหลายแล้วกำหนดรู้ไว้ว่า นี่ทุกข์ จัดเป็นทุกขสัจ
        การกำหนดเห็นความเป็นโทษอันเกิดจากความยึดถือในขันธ์ ๕ ประการด้วยอำนาจตัณหาว่าของเรา ด้วยอำนาจมานะว่า เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ละเสีย จัดเป็นทุกข์สมุทัยอริยสัจ
        การกำหนดให้รู้จักว่าผลเกิดขึ้นจากการนับถือพระพุทธศาสนานั้นมีความสงบเย็น
เป็นความหมดไปสิ้นไปแห่งความยึดมั่นถือด้วยประการนั้นๆ จนถึงเป็นบรมสุข
ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้งจัดเป็นทุกข์นิโรธอริยสัจ
        การกำหนดรู้ว่าผลที่ตนจำนงหวังจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธ
ศาสนาจัดเป็นทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
        เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วจะพบว่าท่านสอนให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนา
เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา แทนที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วย
โมหะความหลง เพราะชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด
        ด้วยเหตุนี้ข้อความในปัญหานี้จึงไม่มีลักษณะขัดแย้งกันตามที่ถามมา

๒๑.พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตาหาสาระมิได้ถ้า
อย่างนั้นแล้วจะหลงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปทำไมเพราะอะไรๆ
ก็ไม่มีสาระเสียแล้ว?
        ฟังดูเผินๆก็น่าจะเป็นอย่างนั้น หากจะตอบสั้นๆก็อาจตอบได้ว่าที่คนต้องปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบนั้น เพื่อต้องการให้เข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นอนัตตาแห่งธรรม
ทั้งหลาย จนสามารถถ่ายถอนตัณหาคืออาการของจิตที่ทะเยอทะยานอยากในสิ่งทั้ง
หลายและอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งหลายออกไป เปรียบเหมือนการ
วิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ในด้านกายภาพและชีวภาพในการวิเคราะห์นั้น จะวิเคราะห์
จนเข้าถึงกฏแห่งความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง จนเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งมีชีวิต
ก็ตามไม่มีแก่นสารตัวตนอะไรประกอบขึ้นและรวมตัวกันอยู่ด้วยปรมาณูแห่งธาตุทั้งหลาย
ในที่สุดจะเข้าถึงการแยกตัวตนออกเป็นพลังงานอันไม่มีตัวตนกลายเป็นพลังในทาง
ทำลายอันมหาศาล เช่นระเบิดปรมาณู อันเกิดขึ้นจากการแยกปรมาณูเพื่อให้เกิดพลังงาน
        แต่การให้เห็นความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลายนั้นไม่เกิดผลในการทำลายล้างคน
สัตว์ แต่กลายเป็นพลังในการทำลายกิเลส หรืออวิชชา ด้วยพลังแห่งวิชชาอันจะบังเกิด
ขึ้นได้ด้วยการละความชั่ว บำเพ็ญความดี หรือการลดปริมาณแห่งอวิชชา ความไม่รู้ เสริมสร้างวิชชา ความรู้ จนอวิชชาหมดไปเพราะความปรากฏอย่างเต็มที่ของวิชชา ได้ชื่อว่า เขาถึงเป้าหมายองค์พระพุทธศาสนา เมื่อถึงระดับนี้แล้วกิจด้วยการละชั่ว
ประพฤติดีหมดไปเพราะท่านละได้ทั้งบุญและบาปหมดสิ้นแล้วหากจะตอบเพียงนี้ก็ได้
        แต่เห็นควรทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับ
หลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาซึ่งควรทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ คือ
       อนัตตา คืออะไร?
        ส่วนมากเรามักจะพูดกันว่า อนัตตา ได้แก่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนฟังแล้วทำให้หลงทาง
ได้ง่าย คำว่าอนัตตาท่านจึงแสดงว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" โดยแสดงลักษณะ
ที่เรียกว่าอนัตตาไว้ว่า
         สิ่งทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาของใคร
        สิ่งทั้งหลายตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นตัวตน
        ไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่ง คน ทั้งหลายอย่างแท้จริง
        เมื่อแยกย่อยออกไปแล้วกลายเป็นของสูญคือว่างเปล่าจากตัวตน
        ด้วยความหมายที่ท่านนิยามออกมานั้นเป็นการประกาศให้ทราบความจริงของคน
สัตว์ สิ่งของทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมว่ามีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งเมื่อคนปรับจิตของ
ตนให้เข้าถึงและยอมรับได้ตามสมควรแก่กรณี แล้วย่อมทำให้ความยึดติดในลักษณะ
ต่างๆอ่อนตัวลงไม่ต้องทุกข์โศกเป็นต้น ในเมื่อประสบกับเรื่องที่ชวนให้ทุกข์ให้โศกเป็นต้น
ในขณะเดียวกันเพื่อบรรลุถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นอนัตตานั้น ท่านให้ยึดเอา
สาระแห่ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ คือ
        "ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะและปรมัตถสาระ"
        ธรรมเหล่านี้ทรงแสดงว่าเป็นสาระแห่งธรรมทั้งหลาย ซึ่งเน้นหนักไปในข้อปฎิบัติที่จะ
นำคนเข้าไปสู่พระนิพพานคือสภาพจิตที่ถึงความสมบูรณ์แห่งสุขอันเกิดจากความสงบ
จากสรรพกิเลส หลักกุศลธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเมื่อเราแบ่งออกเป็นระดับจะได้
สองระดับ คือ
        วัฎฎคามีกุศล คือกุศลความดีที่บุคคลจะต้องยอมรับว่ามีอยู่เป็นอยู่แห่งสิ่งทั้งหลาย
ตามโลกบัญญติ เช่น นับถือพ่อแม่ ครูอาจารย์ ให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาเป็นต้น
แต่ไม่ควรจะยึดติดในสิ่งต่างๆในลักษณะตายตัว เช่นตนมีหน้าที่ ตำแหน่งงานอะไรอยู่ ก็ต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่หน้าที่ตำแหน่งงานนั้นๆให้ถูกต้องสมบูรณ์ แต่ไม่ควรยึด
ติดว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ จนมีการยกตนเสมอท่านหรือยกตนข่มคนอื่นเป็นต้นหรือยึดถือ
ว่าตนเท่านั้นจะต้องเป็นเช่นนี้คนอื่นเป็นไม่ได้ ในระดับนี้พระพุทธศาสนายอมรับความ
จริงตามที่สมมติเรียกร้องกันแต่ไม่ยึดถือเป็นตัวเป็นตนจนเกิดความเดือดร้อน
        วิวัฏฏคามีกุศล คือเรื่องที่เป็นความจริงอย่างแท้จริงไม่เกาะเกี่ยวด้วยสมมติบัญญติแต่
เป็นปรมัตถธรรมล้วนๆ แต่ควรเข้าใจว่าหลักธรรมแม้ในส่วนที่เป็นวิวัฏฏคามีกุศลคน
ธรรมดาก็อาจสัมผัสได้ในระดับหนึ่ง เช่นการฆ่าความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นการระงับ
กิเลสไว้ได้ชั่วคราวอันท่านเรียกว่า ตทังควิมุตติ คือจิตหลุดพ้นด้วยองค์นั้นๆ หรือความ
เข้าถึงอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลาย หากคนปรับจิตให้เหมาะสมแล้วสามารถได้รับประโยชน์
อย่างมากในขั้นที่เป็นวัฏฏคามีกุศล