๓๐.ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่?
       ความเกิดนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย การพูดตรงๆไปว่าตายแล้วเกิด ท่านจัด
เป็น สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่าโลกเที่ยง แต่หากปฏิเสธว่าตายแล้วไม่เกิดอีกหรอกท่าน
ก็บอกว่าเป็น อุจเฉททิฎฐ คือความเห็นว่าขาดสูญ เรื่องนี้จึงจำต้องหาจุดกลางให้ได้
ว่าพระพุทธศาสนาได้แสดงเรื่องนี้ไว้ในรูปของเหตุปัจจัยที่อาศัยประชุมพร้อมกันแล้ว
การเกิดก็มีขึ้น เช่น ในกรณีการถือปฏิสนธิในครรภ์ ท่านแสดงปัจจัยหลักไว้ว่า
        "มารดาบิดาร่วมกัน มารดามีระดู คนธรรพ์ถือปฏิสนธิ"
        การเกิดก็ปรากฏขึ้น ในคำว่าคนธรรพ์นั้นชื่อแปลกออกไปจากที่อื่น คนธรรพ์เองก็เกิด
ขึ้นจากปัจจัย ๓ ประการ คือ
       กมมํ  เขตตํ กรรมดีกรรมชั่วเหมือนเนื้อนา วิญญาณํ  พีชํ วิญญาณเป็นหน่อพืช
ตณหา สิเนหํ ตัณหาเป็นยางเหนียว
        ในเรื่องนี้ท่านแสดงแบบอุปมาด้วยเมล็ดพืชการจะตัดสินว่าเมล็ดพืชจะปลูกงอก
หรือไม่นั้น ต้องอาศัย พื้นดิน หน่อ  และยางเหนียวในเมล็ดพืชรวมกัน หากบกพร่อง
ไปอย่างเดียวก็งอกไม่ได้ ฉันใดการบังเกิดของคน สัตว์ ก็ต้องอาศัยปัจจัย ๓ ประการ คือกรรม กิเลส วิญญาณ ฉันนั้น
        โดยนัยนี้จะพบว่าเมื่อเราเข้าไปจับกับหลักปฏิจจสมุปบาท กิเลสคืออวิชชา กรรมคือ
สังขาร วิญญาณก็คือปฏิสนธิวิญญาณ ในปฏิจจสมุปบาททรงแสดงแบบเป็นเหตุเป็นผล
กันตามในปัจจัยหลักที่กล่าวข้างต้น คำว่า คนธพโพ คือ คนธรรพ์เป็นชื่อของกิเลส
กรรม วิญญาณรวมกัน แต่เพราะกำเนิดนั้นไม่ได้มีเฉพาะเกิดในครรภ์อย่างเดียว ปัจจัยที่
สำคัญอันนำไปสู่การตัดสินว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ คือ กิเลส กรรม วิญญาณ ปัจจัยทั้ง ๓นี้ขาดไปเพียงอย่างเดียวก็เกิดไม่ได้ คำตอบจึงยุติว่า
        หากปัจจัย ๓ ประการนั้นมีอยู่ การเกิดก็ต้องมีอยู่
        เมื่อปัจจัย ๓ ประการนั้นหมดไปการเกิดก็ยุติ ผู้เกิดก็ไม่มี.

๓๑.คนมีกิเลสต้องเกิดอีกร่ำไปถ้าโลกทุกโลกแตกทำลายหมด คนจะไปเกิดที่ไหน หรือแตกสูญหายตามโลกไปด้วย?
        เอาอย่างนั้นเชียวหรือ? คำถามนี้วางอยู่บนสมมติฐานที่ไม่อาจเป็นไปได้เหมือนการ
กล่าวว่า เต่ามีหนวด กระต่ายมีเขา รูปผู้หญิงทำด้วยหินมีครรภ์ หากเป็นเช่นนั้นได้จริง
คนก็ต้องยอมรับในประเด็นที่ว่า โลกและชีวิตเป็นขบวนการที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติ เมื่อเหตุปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นดำรงอยู่ของชีวิตแตกสลาย
ไปสิ่งนั้นก็ต้องแตกสลายตามไปด้วยเป็นธรรมดา.

๓๒.การระลึกชาติก่อนได้หลายๆชาติมีจริงหรือไม่?
        ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่ามีได้จริงๆ เพราะพระพุทธเจ้าเมื่อทรงบำเพ็ญเพียร
ทางจิตมาถึงจุดหนึ่งแล้วพระองค์ก็ทรงบรรลุสิ่งที่เรียกว่า "ญาณ" อันเป็นความรู้
ที่เกิดขึ้นจากการฝึกจิต ญาณที่ทรงบรรลุนั่นมีมากในที่นี้จะพูดเฉพาะพระญาณข้อแรกคือ
        ปุพเพนิวาสานุสสติญาณคือ พระญาณที่ทำให้พระองค์ทรงระลึกชาติปางก่อนได้ว่า
ในชาตินั้นๆ พระองค์เคยเกิดเป็นอะไร มีรูปร่าง การศึกษา การงานเป็นต้นอย่างไร
ทรงระลึกได้ไม่มีกำหนด มีพระชาติในอดีตเป็นอันมากที่ทรงนำมาเล่าประกอบการแสดง
ธรรม เรียกว่า ชาดก แปลว่าเรื่องที่เคยเกิดมาแล้ว เช่นพระเจ้า ๑๐ ชาติเป็นต้น
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้ มีขีดความสามารถในการระลึกชาติได้มากน้อยแตกต่างกัน
ตามกำลังแห่งญาณที่เกิดขึ้น เหมือนแสงสว่างแม้จะเป็นแสงสว่างเหมือนกันแต่ขจัด
ความมืดได้มากน้อยแตกต่างกัน
        การระลึกชาติอีกประการหนึ่งคือการระลึกชาติของท่านที่มีบุญพิเศษ แต่ระลึกได้ไม่
กี่ชาติ อีกพวกหนึ่งคือระลึกได้ด้วยการสะกดจิตตามที่พวกฝรั่งนิยมศึกษากันทราบว่า
อย่างมากที่สุดระลึกย้อนกลับไปได้เพียง ๒ ชาติเท่านั้นอย่างไรก็ตามการระลึกชาติด้วย
สาเหตุที่แตกต่างกันนั้นมีได้จริงๆ
        จากหลักการแห่งการระลึกชาตินี้ หากคนเราจะใช้วิธีนี้เองระลึกถึงสมัยที่ตนเป็นผู้น้อย เป็นเด็กเป็นคนยากจนได้รับความเดือดร้อยเป็นต้นว่าสมัยนั้นตนต้องการอะไรจากผู้
ปกครองผู้ใหญ่ คนมีฐานะดีกว่าตนที่พอจะช่วยได้อย่างไรบ้าง แล้วใช้ความรู้สึกของตน
ในสมัยนั้น ปฏิบัติตนต่อคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับตนแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา สังคมมนุษย์
นี้คงน่าอยู่ขึ้นอีกมากที่เดียว.

๓๓.การสอนเรื่องความมีอยู่ของชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิด
ไม่ทำให้คนเพ้อฝันหรือ ?
        อาจจะฝันแต่ไม่ใช่เพ้อฝัน กลับเป็นการใฝ่ฝันอย่างความใฝ่ฝันที่คนร้องเพลงกันว่า
"ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" นั้นเอง ปัญหาเรื่องชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิดนั้น ได้
กล่าวมาแล้วว่าเป็นเรื่องของผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย คนอาจจับเอาหลักเพียงพระ
พุทธภาษิตที่ว่า

อิธ นนทติ เปจจ  นนทติ    กตปุญโญ อุภยตถ นนทติ
ปุญญํ  เม กตนติ  นนทติ   ภิยโย นททติ สุคติ คโต
        ผู้มีบุญอันกระทำแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสองคือบันเทิงอยู่ในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมบันเทิง ย่อมบันเทิงด้วยความคิดว่าบุญอันเรากระทำไว้แล้ว
ไปสุคติแล้วจะบันเทิงยิ่งๆขึ้น
        จะพบว่าพระพุทธภาษิตนี้แสดงเหตุแห่งความบันเทิงในโลกทั้งสองไว้ว่าได้แก่บุญผล
คือความบันเทิงจะเกิดขึ้นในโลกทั้งสองได้ ก็ต้องสร้างเหตุคือบุญไว้ ความสำนึกเช่นนี้จะ
เป็นแรงกระตุ้นให้คนผู้ปรารถนาผลดังกล่าว รีบเร่งกระทำเหตุที่ให้เกิดผลเป็นความ
บันเทิงในโลกทั้งสอง
        ความสำเร็จในชีวิตคนจะต้องเริ่มมาจากความใฝ่ฝันเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เสีย
ก่อนแล้วในที่สุดทำให้คนเหล่านั้นเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนใฝ่ฝัน ความเพียรพยายามนั้นจะยุติลง เมื่อตนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่เคยใฝ่ฝันไว้
การสอนการเชื่อในเรื่องชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิด จึงเป็นพลังอันมหาศาลที่จะผลัก
ดันวิถีชีวิตของคนให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสุจริตทาง กาย วาจา ใจ ซึ่งอำนวยผลให้
คนเห็นได้ในปัจจุบัน เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและสังคมอันเป็นส่วนรวมสังคมจะมีสมาชิก
ที่ยึดมั่นในความถูกต้องตามธรรมมากขึ้น ความเห็นแก่ตัว พวกของตัว พ่อค้าหน้าโลหิต
จะน้อยลงได้มากทีเดียว เมื่อผลออกมาได้อย่างนี้ใครจะเรียกว่า เพ้อฝันหรือสร้างวิมาน
ในอากาศจะสำคัญอะไร ?