นายกรัฐมนตรีโปรตุเกสเยือนติมอร์ฯ
นายอันโตนิโอ กูเตเรส (Antonio Guterres) นายกรัฐมนตรีโปรตุเกสและคณะประกอบด้วยรัฐมนตรีศึกษาธิการและสื่อมวลชน เดินทางไปเยือนติมอร์ตะวันออกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กล่าวว่า โปรตุเกสยังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับติมอร์ตะวันออกและพร้อมจะให้ความร่วมมือแก่ติมอร์ตะวันออกเพื่อช่วยเหลือในการฟื้นฟูประเทศและช่วยเหลือชาวติมอร์ตะวันออกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่เมืองเบาเกานายกรัฐมนตรีโปรตุเกสได้มอบรถยนต์ให้หัวหน้าบาทหลวงแห่งคริสต์จักรเบาเกา เปิดสำนักงานการประปาเมืองเบาเกา เปิดสวนหย่อมที่บริเวณโบสถ์อันโตนิโอและเข้าร่วมในพิธีทางศาสนาในเทศกาลอีสเตอร์
  • เป็นที่น่าสังเกตุว่าในการเดินทางเยือนติมอร์ตะวันออกของนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสและคณะ นอกจากจะได้รับทราบข้อมูลด้านต่างๆ และข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามความต้องการของชาวติมอร์ฯแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลโปรตุเกสยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อติมอร์ตะวันออก โดยเฉพาะมีความเชื่อมั่นต่อสมาชิกสภา CNRT ที่ปัจจุบันเป็นเสมือนคณะผู้บริหารประเทศที่สหประชาชาติกำลังดำเนินการถ่ายโอนอำนาจในการปกครองติมอร์ฯ และสมาชิกสภา CNRT เองก็มองว่าโปรตุเกสเป็นประเทศเดียวที่ให้การช่วยเหลือติมอร์ฯ ได้ตรงตามความต้องการของประชาชนซึ่งในเรื่องของการดำเนินการฟื้นฟูติมอร์ฯ ของสหประชาชาติที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ฝ่ายสภา CNRT ได้บรรยายสรุปให้นายกรัฐมนตรีโปรตุเกสและคณะฟัง สรุปได้ว่า
  • การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูติมอร์ฯ ของ UNTAET ไม่ค่อยประสบผลเท่าที่ควร มีความล่าช้าในการปฏิบัติงานและไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน
  • การจ้างแรงงานท้องถิ่น UNTAET กำหนดให้อัตราเงินเดือนอยู่ในระดับต่ำ
  • การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งเป็นค่าตอบแทนหรือเงินเดือนแก่ครูและเจ้าหน้าที่พยาบาล ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
  • UNTAET ขาดการประสานงานที่ดีกับสภา CNRT ซึ่งเปรียบเสมือนหน่วยงานท้องถิ่นที่สามารถเข้าถึงและรู้ปัญหาของประชาชนเป็นอย่างดีและได้ขอร้องให้รัฐบาลโปรตุเกสให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการเงิน การเกษตรกรรม การสาธารณสุข โดยให้ผ่านทางสภา CNRT โดยตรง เพื่อลดขั้นตอนที่ก่อให้เกิดความล่าช้าในการช่วยเหลือประชาชนรวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ยูเอ็น เรียกร้องให้อินโดนีเซียยืดเวลาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวติมอร์ฯ
  • นายเซอร์จิโอ วิเอรา เดอ เมลโล หัวหน้าคณะผู้บริหารของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก

  • แจ้งต่อสื่อมวลชนหลังจากหารือกับนายอัลวี ซีฮับ รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ที่กรุงจาการ์ตาเรียกร้องให้อินโดนีเซียยืดเวลาช่วยเหลือผู้อพยพชาวติมอร์ต่อไปอีก ทั้งนี้อินโดนีเซียได้กำหนดเส้นตายให้ผู้ลี้ภัยชาวติมอร์ฯซึ่งยังอยู่ในดินแดนติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซียตัดสินใจว่า จะอาศัยอยู่ในอินโดนีเซียเป็นการถาวรหรือไม่ นายเมลโล กล่าวว่ากำหนดเวลาดังกล่าวน่าจะผ่อนปรนได้ สหประชาชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยติมอร์ตะวันออกในอินโดนีเซียต่อไป
  • กำหนดเส้นตายที่อินโดนีเซียกำหนดไว้คือวันที่ ๓๑ มี.ค. ๔๓และล่าสุดอินโดนีเซียยอมผ่อนปรน โดยเลื่อนกำหนดเส้นตายไปเป็นวันที่ ๒๐ เม.ย. ๔๓
  • พล.ท.Jame de Santos ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพปฏิเสธข้อเสนอของ ทบ.อินโดนีเซีย

  • ทบ.อินโดนีเซียได้เสนอให้มีการลาดตระเวนร่วมกันตามแนวชายแดนติมอร์ตะวันออกและติมอร์ตะวันตก ระหว่างกองกำลังสหประชาชาติและ ทบ.อินโดนีเซีย ในระหว่างการประชุมร่วมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาที่สหประชาชาติ กล่าวหาว่า อินโดนีเซียมิได้สกัดกั้นกลุ่มมิลิเทียที่ข้ามพรมแดนเข้าไปในติมอร์ตะวันตก หลังเหตุการณ์รุนแรงเมื่อปีที่ผ่านมา
  • อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียแจ้งว่า ได้ส่งกำลังจากหน่วยทหารราบ เข้ามาประจำตามแนวชายแดนจำนวน ๖๘๐ คน เพื่อป้องกันการปฏิบัติการของกลุ่มมิลิเทียและได้แจ้งเตือนเครื่องบินของออสเตรเลียว่า อย่าบิน รุกล้ำน่านฟ้าของอินโดนีเซียโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกยิงทันที รวมทั้งรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งอินโดนีเซียก็ได้แจ้งว่า ได้ให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นชาวติมอร์ตะวันออกจำนวนหลายพันคนที่เดินทางกลับเข้าไป ยังอินโดนีเซีย(ติมอร์ตะวันตก)อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากขาดแคลนอาหารและภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย หลังจากที่อพยพกลับไปยังติมอร์ตะวันออก ภายใต้การดำเนินการของ UNHCR
  • สำหรับแนวทางในการต่อต้านการปฏิบัติการของมิลิเทีย สหประชาชาติกำหนดแนวทางต่อต้านด้วยการใช้กองกำลังฟาลินติลซึ่งกำลังดังกล่าวได้ต่อสู้เพื่อเอกราชในติมอร์ตะวันออกมานานกว่า ๒๔ ปี
  • ชื่อเมืองในติมอร์ตะวันออก

  • UNTAET PKF กำหนดให้ใช้ชื่อเมืองต่างๆในติมอร์ตะวันออก เป็นมาตรฐานเดียวกันคือ
    1. AILEU
    2. AINARO
    3. BAUCAU
    4. BOBONARO(แทนMALIANA)
    5. COVALIMA(แทนSUAI)
    6. DILI
    7. ERMERA
    8. LAUTEM (แทนLOSPALOS)
    9. LIQUICA
    10. MANATUTO
    11. MANUFAHI (แทนSAME)
    12. OECUSSI
    13. VIQUEQUE
    และในส่วนของตำบลและหมู่บ้านจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง

  • ชาวเบาเการุมประชาทัณฑ์อดีต militia
  • เมื่อวันที่ ๑๑ มี.ค.๔๓ unhcr หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้นำผู้อพยพกลับเข้าถิ่นฐานเดิมที่เมืองเบาเกาจำนวน ๑๗๗ คน ในจำนวนนี้มีอดีตผู้ก่อความไม่สงบในห้วงการลงประชามติเมื่อเดือนกันยายนปี ๒๕๔๒(militia) กลับมาด้วยจำนวน ๖ คน ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ชาวเมืองเบาเกาประมาณ ๓๐๐ คนพยายามเข้าทำร้ายและรุมประชาทัณฑ์ กองพันทหารราบไทย(thai batt)ซึ่งปฏิบัติหน้าที่คุ้มกันและรักษาความปลอดภัยอยู่ ต้องเพิ่มเติมกำลังเข้าไปเสริมอีกจำนวน ๒ หมู่ จึงสามารถดำเนินกรรมวิธีส่งกลับผู้อพยพได้
  • จนถึงวันนี้ ที่เมืองเบาเกามีผู้อพยพกลับมาแล้วจำนวน ๔,๕๕๐ คน

  • INTERFET จบภารกิจ

  • ๑๙ ก.พ.๔๓ เลาเทม : กกล.ฉก.ร่วม ๙๗๒ ไทย/ติมอร์ตะวันออก ได้ส่งเรือหลวงสุรินทร์ไปรับยุทโธปกรณ์ของ กกล.ทบ.ไทย/ติมอร์กลับประเทศไทย ซึ่งกองกำลังดังกล่าวได้จบภารกิจในติมอร์ตะวันออกตามคำสั่งของอินเตอร์เฟต โดยเรือหลวงสุรินทร์เดินทางไปรับยุทโธปกรณ์ที่ท่าเรือคอมในพื้นที่เมืองเลาเท็ม ห่างจากเมืองเบาเกาไปทางตะวันออกประมาณ ๘๐ กม. เรือหลวงสุรินทร์จะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ ๒ มี.ค.๔๓

  • ขุดศพพิสูจน์หลักฐาน

  • เบาเกา เมื่อเวลา ๑๔๐๐ วันที่ ๖ มี.ค.ที่ผ่านมา ที่หลังกองบัญชาการภาคตะวันออก(sector east) เจ้าหน้าที่ตำรวจสหประชาชาติ(un civpol)พร้อมเจ้าหน้าที่องค์กรทางศาสนาสากลและประชาชนชาวติมอร์ฯได้ไปที่บริเวณหลังสนามบินเบาเกา เพื่อขุดศพขึ้นพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งบริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งของทหารอากาศอินโดนีเซีย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการภาคตะวันออกและที่พักของทหารไทย การขุดศพได้ดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ จึงได้พบศพนายcaros da silva ซึ่งถูกทหารอินโดนีเซียหน่วย kostrad ยิงเสียชีวิตที่บริเวณสวนหลังบ้านที่ตำบลโบโคลี เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๑ เนื่องจากผู้ตายเป็นแนวร่วมและสนับสนุนกลุ่มฟาลินติล นายmanuel da silva น้องชายของผู้ตายได้มายืนยันและชี้จุดที่ฝังศพ