ปรับปรุงระบบระบายความร้อนของคอมพิวเตอร์
เรือนคอมพิวเตอร์ไทย
สารบัญของเรื่องนี้
ความร้อนเพิ่มขึ้น!
พิจารณาการเลือกเคส
เทคนิคการติดตั้งฮาร์ดแวร์
ปรับระบบระบายความร้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม


ความร้อนเพิ่มขึ้น!
หลังจากทดสอบประกอบ "เซิร์ฟเวอร์ชาวบ้าน" ใช้งาน 1 ตัว โดยใช้ เพนเทียม II 233 เมกะเฮิร์ต หน่วยความจำ SDRAM 128 เมกะไบต์ และฮาร์ดดิสก์ Ultra Wide SCSI ความจุ 9.1 กิกะไบต์จำนวน 2 ตัว เมื่อทดสอบ Burn In เรียบร้อย ลองเปิดใช้งานแบบสัปดาห์ต่อเนื่องแล้วระบบทำงานได้อย่างมีเสถียร ผมก็เริ่มอพยพ (Migration) บรรดา User Account, แฟ้มข้อมูลต่างๆ ลงมาในเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว.. และแล้ว พร้อมเซิร์ฟ!
พอใช้งานสักระยะหนึ่ง สิ่งที่ทำให้ผมกังวลใจก็คือ เมื่อเอามือแตะดูที่ฝาครอบเคส รู้สึกว่าอุ่นๆ ค่อนไปทางร้อน.. เมื่อตรวจดูอุณหภูมิของซีพียูโดยใช้ซอฟต์แวร์จากผู้ผลิตพบว่าลำพังซีพียูเองมีอุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าปกติ แต่ผมก็ยังกังวลอยู่ดีเพราะฮาร์ดดิสก์เองไม่ควรทำงานที่อุณหภูมิสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส มิฉะนั้นอาจจะเกิดคามผิดพลาดในการทำงาน นอกจากนั้นแล้วยังทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่ำลงด้วย
ในคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เฉพาะซีพียูเท่านั้นที่ผลิตความร้อนออกมาในระหว่างทำงาน แต่ยังมีฮาร์ดดิสก์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ SCSI ที่หมุนด้วยรอบความเร็วสูงจะให้ความร้อนสูงมาก ไดรฟ์ซีดีรอมที่ความเร็วสูงๆ และต้องมีการทำงานตลอดเวลาก็ให้ความร้อนเหมือนกัน ภาคเรกูเรเตอร์หรือภาคการควบคุมการจ่ายไฟของเมนบอร์ด ก็ให้ความร้อนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะที่ครีบระบายความร้อนบนเมนบอร์ด การ์ดวีจีเอส่วนของชิปก็ให้ความร้อนในขณะทำงานเช่นกัน ทำให้เกิดความร้อนสะสมภายในเคสทั้งนั้น
ย้อนกลับหัวเรื่อง
พิจารณาการเลือกเคส
การปรับปรุงระบบระบายความร้อน คงจะต้องเริ่มด้วยการตระหนักว่า หากคอมพิวเตอร์ใช้ซีพียูความเร็วสูงๆ และฮาร์ดดิสก์ที่หมุนเร็วๆ จะเกิดความร้อนอย่างแน่นอน ดังนั้นตัวเคสจึงต้องเลือกเคสที่ทำด้วยวัสดุที่ระบายความร้อนได้ดี และการวางตัวของอุปกรณ์ภายในเอื้ออำนวยต่อการระบายความร้อนด้วย ที่ว่าเอื้ออำนวยต่อการระบายความร้อนนั้นมีหลายระดับ เช่น ตำแหน่งการติดตั้งฮาร์ดดิสก์อยู่ในตำแหน่งที่การระบายอากาศดี เมื่อประกอบเครื่องเสร็จแล้ว ควรจัดเก็บสายไฟ สายแพต่างๆให้เป็นระเบียบ การจัดวางตำแหน่งของแหล่งจ่ายไฟ (Power Supply) เอื้ออำนวยต่อการระบายความร้อน และเคสควรมีช่องเผื่อไว้สำหรับการติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพิ่มด้วย อาจจะติดพัดลมเพิ่มได้อีก 1 ตัว หรือ 2 ตัว เคสพวกนี้เท่าที่ดูในตลาด จะเห็นว่าราคาแพงกว่าเคสธรรมดา บางครั้งราคาถึงห้าพันบาท แต่ก็เลือกเสียเถอะครับ เคสดีๆนั้น ในบ้านเราก็พอจะหาได้ และผมแนะนำว่าอย่าไปประหยัดค่าเคสแค่พันสองพันบาท เพราะไม่คุ้มกับที่อายุการใช้งานของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเซิร์ฟเวอร์จะต่ำลง
อีกประการหนึ่ง ภาคจ่ายไฟ (Power Supply) ปกติภาคจ่ายไฟที่ขายกันโดยทั่วๆไป สามารถจ่ายไฟได้ 120 - 200 วัตต์ แต่ถ้าหากจะเอามาใช้กับพวกเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าสูง แนะนำว่าควรเลือกภาคจ่ายไฟขนาด 250 - 450 วัตต์
อนึ่ง ถ้าหากต้องการประหยัด ถ้าเป็นไปได้ ให้เลือกซื้อเคสที่ไม่มีภาคจ่ายไฟ เพราะบางครั้งภาคจ่ายไฟก็เล็กเกินไป แล้วซื้อภาคจ่ายไฟต่างหาก
ย้อนกลับหัวเรื่อง
เทคนิคการติดตั้งฮาร์ดแวร์
เทคนิคการติดตั้งฮาร์ดแวร์เพื่ออำนวยในการระบายความร้อน ได้แก่ ไม่เปิดช่องว่างในเคสทิ้งไว้โดยไม่จำเป็น การเก็บรวบรวมสายไฟ โดยการมัดเข้ารวมกันแล้วแทรกลงในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่วางการ์ด หรือสิ่งกีดขวางขวางทิศทางลม และหมั่นทำความสะอาดทุกๆ หกเดือนหากพบว่ามีฝุ่นลองเกาะติดตามตำแหน่งของอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ
ย้อนกลับหัวเรื่อง
ปรับระบบระบายความร้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากดำเนินข้างต้นทั้งหมดแล้ว เมื่อใช้งานคอมพิวเตอร์จริง แล้วลองเอามือแตะที่ฝาเคส แล้วยังอุ่นๆอยู่ ผมคิดว่าถึงเวลาพัดลมระบายความร้อนตัวที่ 2 และอาจจะ 3 ต่อไปแล้วครับ พัดลมเหล่านี้หาซื้อได้จากร้านคอมพิวเตอร์ทั่วไปในพันธ์ทิพย์ ลักษณะเป็นพัดลมเคส ตัวจะใหญ่พอประมาณ ซื้อมาแล้วก็นำมาติดตั้งเข้ากับเคส ตรงช่องว่างที่มีให้ติดพัดลมเพิ่ม จากการทดสอบ เมื่อติดพัดลมตัวที่ 2 ลงไปแล้ว ความร้อนในคอมพิวเตอร์ลดลงไปมาก (แต่ก็ยังร้อนอยู่)
การติดพัดลมเข้ากับตัวเคส มีเทคนิคการติดตั้งนิดหน่อยตรงที่ว่า อาจจะต่อสายไฟ 12 โวลต์ของพัดลม เข้ากับ Power Supply เลยก็ได้ ซึ่งข้อดีของกรณีนี้ ก็คือ พัดลมจะทำงานตลอดเวลาที่เปิดเครื่อง หรือจะใช้วิธีที่สองก็ได้ คือ ต่อสายไฟของพัดลมเข้ากับจุดจ่ายไฟบนเมนบอร์ดที่กำหนดว่าเป็น Chasis Fan แต่เฉพาะเมนบอร์ดรุ่นใหม่เท่านั้นที่สามารถต่อพัดลมเข้าไปได้ หากเป็นเมนบอร์ดรุ่นเก่าจะไม่มี ข้อดีก็คือ พัดลมจะทำงานเมื่ออุณหภูมิภายในเคสสูงกว่ากำหนด จึงเป็นการประหยัดพลังงาน แต่ข้อเสียก็คือ บางครั้งผมไม่แน่ใจว่าจุดตำแหน่งของเซนเซอร์ที่วัดอุณหภูมิของเมนบอร์ดสอดคล้องและสัมพันธ์กับการติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆ หรือไม่ เช่น หากฮาร์ดดิสก์ร้อนจัด แต่เมนบอร์ดยังบอกว่าความร้อนภายในเคสปกติ เพราะวัดคนละจุด กรณีก็ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับความร้อนยังไม่ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง
ย้อนกลับหัวเรื่อง


come.to/pcthai
28 ตุลาคม 2541