ต้องการลงบทความ...คลิกที่นี่
เนื่องจากข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่เวลาในการศึกษาหาความรู้ของแพทย์อย่างเราๆ มีเพียงน้อยนิด แหล่งความรู้ต่างๆ ก็มีมากมาย ดังนั้นหน้านี้จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางการแพทย์ ที่พวกเราแต่ละคนไปอ่านมาหรือรับฟังมา แล้วมาเล่าย่อๆ ให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ ซึ่งในอนาคต อาจจะเป็นแหล่งความรู้ ทางการแพทย์ที่สำคัญแหล่งหนึ่ง

ยาลดความอ้วนชนิดใหม่ที่ไม่ใช่กลุ่มแอมเฟตามีน
  • เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา มียาขนานใหม่ที่ชื่อว่า Leptin สามารถลดน้ำหนักหนูทดลองที่อ้วนปี๋ลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง ภายในเวลาไม่ถึงเดือน และไม่มีผลข้างเคียงด้วย
แล้วทำไมเราไม่เห็นยาขนานนี้วางตลาด ?

เรื่องมันไม่ง่ายขนาดนั้นครับ เพราะการวิจัยที่ทุ่มทุนกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัท Amgen ในสหรัฐอเมริกา พบว่าผลการทดลองในคนไม่ประทับใจเหมือนกับในสัตว์ทดลอง. อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ทุ่มลงไปก็ไม่ถึงกับสูญเปล่า ได้ความรู้ขึ้นมาอีกว่า Leptin เป็นอะไรและเกี่ยวข้อง กับอะไรบ้าง Leptin เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ควบคุมสมดุล (homeostasis) ของการกินอาหารและ การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย. นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งมันยังเกี่ยวข้อง กับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ และการสร้างกระดูกอีกด้วย. Leptin จะถูกขับออกมาจากเซลล์ไขมัน เพื่อไปบอกสมองว่าภาวะพลังงานของร่างกายอยู่ในสภาวะอย่างไร เช่น ถ้าสมบูรณ์ดีเซลล์ไขมันจะอ้วนก็จะหลั่ง Leptin ออกมามาก สมองก็รับรู้และพยายามจำกัดการกินหรือ เผาผลาญพลังงานเพิ่มมากขึ้น. ในทำนองตรงข้าม ยามที่อยู่ในภาวะขัดสน Leptin ก็จะออกมาน้อย พฤติกรรมการกินก็จะเกิดขึ้น. นี่แหละครับเป็นกลไกการทำงานของ Leptin ที่สมองตรงบริเวณ Hypothalamus.เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว สิ่งที่นักวิจัยได้ทดลองลงไปคือ การฉีด Leptin เข้าไปเพื่อหลอกสมอง ว่ามีปริมาณ Leptin มาก การสะสมพลังงานหรือความหิวก็จะได้ลดลง. ได้ผลครับ !! แต่ไม่ได้ผลกับทุกคน ทั้งนี้เพราะคนอ้วนบางคนไม่ได้มีสาเหตุมาจากการขาดแคลน Leptin. อีกนัยหนึ่งคือ สาเหตุของความอ้วน มีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ที่พบใหม่คือ alpha-MSH ซึ่งการหลั่งของมันทำให้ความอยากอาหารลดลง (Leptin กระตุ้นการหลั่งสาร alpha-MSH นี้). นอกจากนั้น ยังพบอีกว่าสารจำพวก nerve growth factor ตัวหนึ่งชื่อว่า CNTF (ciliary neurotrophic factor) ซึ่งใช้รักษา amyotrophic lateral sclerosis ทำให้ผู้ป่วยผอมลงได้. นักวิจัยแห่ง Institute for Research in Molecular Biology (IRBM) ในกรุงโรม พบว่าสารที่มีโครงสร้างคล้าย CNTF ที่ชื่อ axokine ช่วยลดปริมาณแคลอรีต่อวันลงได้ 500 แคลอรี ก็น่าสนใจดีนะครับ.
ครับ นั่นก็เป็นยาชนิดใหม่ที่อยู่ใน pipe-line ที่มีอนาคตว่าจะออกมาสู่ตลาด แต่ Leptin ก็ใช่ว่าจะถูกหลงลืมไปนะครับ หลายแห่งกำลังพิจารณาปรับปรุงให้มันเสถียรขึ้น มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ที่นานขึ้น รวมทั้งผ่าน Blood-brain barrier ได้ดีขึ้นด้วย. ในอีกด้านหนึ่งก็จะมีสารที่จะสามารถตรวจได้ว่าผู้ป่วยรายนั้น ๆ ตอบสนองต่อ Leptin ด้วยหรือไม่ ออกมาด้วย.

Back to top



ยารักษาโรคอัลไซเมอร์
  • จำหมายเลขโทรศัพท์ไม่ได้.
    นึกชื่อคนคุ้นเคยไม่ออก.
    เช้าขึ้นแต่งตัวอยู่นานก็ยังไม่เรียบร้อย.
    กลับบ้านไม่ถูก.
    จำลูกหลานไม่ได้.

ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงโรคอัลไซเมอร์ เป็นกันมากครับ ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีคนราว 4 ล้านคน กำลังทุกข์ทรมานกับโรคนี้. โชคดีที่คนไทยเรายังไม่เป็นขนาดนั้น แต่อัตราสูงขึ้นเพราะเราอายุยืนขึ้น.

อัลไซเมอร์เกิดโดยโปรตีนที่ชื่อ amyloid precursor protein (APP) ถูกเอนไซม์เบต้าและแกรมมา secretases ย่อยกลายเป็นโปรตีน A-beta ซึ่งมาเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่จนเบียดเซลล์ประสาท ข้างเคียงให้หายไป หรือเกิด inflammation และเสียชีวิตในที่สุด.

อะไรทำให้เป็นเช่นนี้?

คุณหมอ Dennis Selkoe แห่งคณะแพทยศาสตร์ ฮาร์วาร์ด กล่าวว่าเป็นเพราะ A-beta ที่เคยสลายไป ตามธรรมชาติไม่ยอมสลาย จึงเกาะกันเป็นก้อน fibril (plaque) ส่วนในอีกด้านหนึ่งเป็น tau protein ที่เป็นแกนให้แขนขาของเซลล์ประสาท (neuron) มาสลายตัวไป เซลล์ประสาทจึงกลายเป็นตัวอะไร ที่ไม่มีแขนขา ติดต่อสื่อสารกับเซลล์อื่นไม่ได้. ถึงขั้นนี้มีเซลล์ประสาทก็เหมือนไม่มี เพราะส่งข้อมูลไม่ได้ ความจำ-ความคิด-ความอ่านจึงเสียหายด้วยเหตุฉะนี้.

ในปัจจุบัน ยาที่ใช้รักษาที่ได้ผลดีพอควรมีอยู่ 2 ขนานคือ Aricept® และCognex® ทั้งคู่มีกลไก ยับยั้งการทำลาย acetylcholine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสำคัญในระบบความจำ แม้ว่ายาในกลุ่มนี้จะเห็น ผลการรักษาได้ไว ผู้ป่วยกลับมาพอช่วยตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่ก็เป็นอยู่ไม่นาน เพียงไม่กี่เดือน หรืออาจจะเป็นปี โรคก็กลับมาครอบงำอีก. ทุกวันนี้นักวิจัยจึงพยายามหาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะรักษาหรือ ชะลอโรคนี้ให้ได้บ้าง สิ่งที่ทำอยู่คือ พยายามลดการสร้าง A-beta protein โดยการยับยั้งการทำงาน ของเอนไซม์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือทั้ง 2 ตัวที่กล่าวถึง (เบต้าและแกรมมา secretases). อีกแนวทางหนึ่งคือ การฉีดวัคซึนที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเห็น A-beta เป็นของแปลกปลอมจะได้ทำลาย ไม่ปล่อยให้มาเกาะกลุ่มเป็นก้อนทำลายเซลล์ประสาท. วิธีหลังนี้ได้ผลน่าประทับใจครับ ช่วยยับยั้ง plaque ไม่ให้เกิด และยังลด plaque เก่าลงได้ด้วย ขณะนี้กำลังมีการวิจัยแนวทางนี้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วย จำนวนไม่มากนัก อีกไม่นานเกินรอก็จะทราบผลครับ ถึงช่วงนั้นจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ.

Back to top


Updated date : May 28, 2000
If suggestions or comment to phurin@hotmail.com
SIRIRAJ 106 หากเพื่อนๆ ต้องการลงบทความ กรุณา Click here ช่วยๆ กันส่งบทความกันเข้ามานะ.

Home ... Our Friends ... New News ... Journal Clubs
ห้องพักแพทย์ศิริราช 106 ... Super Links ... Hot Photo ... Contact Us

Powered by Siriraj 106
Copyright 2000-2003
All right reserved. Webmaster SI106